แต่…กับหลาย ๆ พื้นที่นั้น ชีวิตไม่ค่อยปกติสุขเช่นครั้งอดีต“… ทั้งนี้ การที่ชีวิตคนไทยยุคนี้ไม่ค่อยจะปกติสุข ซึ่งรวมถึงคนในพื้นที่เมืองเหนือหลายจังหวัด ’สาเหตุสำคัญ“ สาเหตุหนึ่งก็เนื่องจาก ’ปัญหาสภาพแวดล้อม“…

View of metro city buildings cityscape

’พิษมลภาวะ“ นั้น ’นับวันยิ่งรุนแรง“

โดยเฉพาะ ’มลพิษต่อระบบหายใจ“

มลพิษที่นำสู่การ ’ก่อภัยมะเร็งปอด“

กล่าวสำหรับมลพิษ-มลภาวะที่ส่งผลร้ายแรงต่อระบบหายใจนั้น…ยุคนี้ก็แน่นอนว่า ฝุ่นพิษขนาดจิ๋ว PM2.5“ เป็นพิษภัยที่ ’ไม่กลัว-ไม่แก้-ไม่ป้องกันไม่ได้“ เพราะมัน ’อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต“  ได้เลย ดังที่มีข่าวการสูญเสียปรากฏบ่อย ๆ อย่างไรก็ดี พื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยที่ได้เกิดภัย “มลภาวะ-มลพิษทางอากาศ” ขึ้นนั้น ในปัจจุบัน ในหลาย ๆ พื้นที่ หลาย ๆ ฝ่ายก็พยายามช่วยกัน “แก้ไข-ป้องกัน” ซึ่งก็ย่อมเป็นเรื่องดีที่เกิดการ ’ร่วมด้วยช่วยกัน“ และวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มี ’กรณีศึกษา“  กรณีหนึ่งมาสะท้อนต่อ นั่นคือกรณีโครงการ ’ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋“ หรือ ’Lamphun Healing Town“

กับโครงการที่เป็นการร่วมด้วยช่วยกันโครงการนี้…ก็นับว่าเป็น ’ต้นแบบ“ ที่น่าสนใจ และก็น่าเอาใจช่วยให้ซัคเซสตามความมุ่งหวังของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความมุ่งหวังของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโครงการต้นแบบ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ – Lamphun Healing Town” นี้ดำเนินการโดยความร่วมมือของ เทศบาลเมืองลำพูน, บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด, บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) และขาดไม่ได้คือ การร่วมมือสนับสนุนจากประชาชน ในพื้นที่

Man wearing mask protect in air pollution environment

หลักใหญ่ใจความ หรือจุดมุ่งหมายหลักของโครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ – Lamphun Healing Town” นั้นคือ…เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่ย่านใจกลางเมืองเก่าลำพูนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขทั้งทางกายและทางใจ โดยมีการกำหนดแนวทางการดำเนินโครงการผ่านทางการ พัฒนาในหลายมิติ ได้แก่… มิติด้านสุขภาวะ มิติด้านสิ่งแวดล้อม และมิติด้านเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือของทุก ๆ ภาคส่วน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวัง

จุดหมายปลายทางที่มุ่งหวังนั้น…ที่สำคัญคือการสามารถ ’ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน“ ได้ ซึ่งคุณภาพชีวิตในที่นี้ก็หมายรวมถึงการมุ่งหวังให้ เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคงบนวิถีพอเพียงอย่างยั่งยืน โดยที่กลไกสำคัญกลไกหนึ่งคือการ ต่อยอดการพัฒนาอัตลักษณ์วิถีบนฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญาสร้างสรรค์ สู่อัตลักษณ์การท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์

’คีย์เวิร์ด“ คือ ’ฟื้นฟู-พัฒนาต่อยอด“

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต

ทั้งนี้ โครงการที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำมาสะท้อนต่อในฐานะ “กรณีศึกษา” นี้ สะท้อนไว้โดย รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ในการบรรยาย “การออกแบบชุมชนเมืองน่าอยู่ และยั่งยืน : NCDless Architecture” ในงานประชุมวิชาการ Thai NCD Alliance 2024 โดยได้มีการยกโครงการ Lamphun Healing Town ขึ้นมาเป็นตัวอย่างโครงการ ลดมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย NCD โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ

“ในปัจจุบันนั้น สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเรากำลังแย่ลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สถาปนิก และผู้ที่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พัฒนาเมืองใหม่ Smart City จึงต้องเตรียมการสำหรับอนาคต ในขณะนี้เรากำลังทำโครงการ Lamphun Healing Town ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ ร่วมกับ GSK บนถนนรถแก้ว ที่ จ.ลำพูน” …ทาง รศ.ดร.สิงห์ ระบุไว้ พร้อมทั้งบอกว่า… ลำพูนก็นับเป็นหนึ่งในเมืองที่น่ากังวลมากเกี่ยวกับค่า ’PM2.5“ ที่สูง และอัตราการเกิด ’โรคมะเร็งปอด“ ที่สูง

หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ระบุไว้ด้วยว่า… ด้านสิ่งแวดล้อม ลำพูนยุคหลัง ๆ ขาดพื้นที่สีเขียว ต้นไม้กลางเมืองมีน้อยมาก ทำให้เมืองร้อน แหล่งน้ำธรรมชาติจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเหือดแห้ง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องเชิงเศรษฐกิจ เกิดกรณีประชากรหดตัว และราว 30% เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ ส่วนคนวัยทำงานก็พากันออกไปอยู่เมืองอื่น ๆ ซึ่งด้านท่องเที่ยวนั้น ก็ขาดที่พักและร้านค้าคุณภาพสูง รวมทั้งกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวก็ถือว่ามีน้อย

City with a forest in front

ในการทำโครงการนี้…ได้ ’มุ่งเน้นทำให้องค์ประกอบของเมืองช่วยเยียวยาเมือง“ โดยด้านสิ่งแวดล้อม…จะต้องลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงจัดการระบบระบายน้ำ จัดการระบบแสงสว่าง และจัดการระบบสัญจร ในด้านสุขภาพกายและใจ…จะต้องมีพื้นที่ออกกำลังกาย ที่มีความร่มรื่น มีร่มเงา หายใจสะดวก มีพื้นที่ผ่อนคลายด้วยงานศิลป์ และในด้านเศรษฐกิจ…จะต้องเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความน่าลงทุน รวมทั้งเน้นภาพลักษณ์ด้านสุขภาวะที่ดี

’การเข้าไปพัฒนาพื้นที่ถนนรถแก้ว เราตั้งใจที่จะให้ถนนเป็นสวนสาธารณะ โดยมีการปลูกต้นไม้และไม้พุ่ม จัดวางเครื่องฟอกอากาศระดับเมือง ทาสีรั้วสถานที่ราชการที่เสื่อมโทรม ปรับผิวถนนเป็นช่วง ๆ ทำระบบไฟแสงสว่างให้ดีขึ้น เรามีการเจาะถนนเพื่อปลูกต้นไม้ โดยทาง GSK และชุมชนได้เข้ามาช่วยกันปลูก ซึ่งเราหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นต้นแบบเมืองอยู่ดีมีสุขของประเทศ หรือ Thailand‘s Prototype for Well-being Town“ …ทาง รศ.ดร.สิงห์ ทิ้งท้ายไว้

กรณีศึกษานี้น่า ’เอาใจช่วยให้ซัคเซส“

และก็ ’เอาใจช่วยทุกเมืองที่ช่วยกัน“

เพื่อ ’เอาชนะภัยมลภาวะ-มลพิษ“.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่