เรียกได้ว่ากำลังเป็นไอเทมอาร์ตทอย (Art toy) สุดฮิต ที่ใครๆ ก็อยากครอบครองไปทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่ในขณะนี้ สำหรับ “ลาบูบู้” เจ้าปิศาจหูยาว เขี้ยวแหลม ที่มาในคาแรกเตอร์มอนสเตอร์ที่อยู่ในชุดกระต่าย มีดวงตาที่ใหญ่โต ปากกว้าง ฟันหยัก ไม่มีหาง ที่ออกแบบโดยศิลปินชาวฮ่องกง
แต่ดูเหมือนล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย. “ลาบูบู้” ได้ถูกพูดถึงอย่างดุเดือด ภายหลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ได้ออกมาเคลมว่า เจ้าอาร์ตทอยตัวดังกล่าวนั้น มีที่มีจากประเทศตัวเอง โดยทางแฟนเพจเฟซบุ๊กเพจ “ASEAN Skyline” ได้โพสต์ข้อความล่าสุด ยกภาพข้อมูลที่เคลมว่า ลาบูบู้ มีต้นกำเนิดดีไซน์มาจาก กีรติมุกคา สัตว์ประหลาดในตำนานของประเทศกัมพูชา
โดยทางเพจดังกล่าว มีการระบุว่า “Kala or Kirtimukha is a demon commanded to devour itself, a swallowing fire monster face with huge fangs and gaping mouth. Kala is very common is Angkorian iconography, sculpted over temple entrances as a guardian.” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า หน้ากาล หรือ เกียรติมุข เป็นปิศาจที่ถูกสั่งให้กลืนกินตัวเอง ใบหน้าปิศาจกลืนกิน มีเขี้ยวใหญ่และมีปากอ้าค้าง ซึ่งแกะสลักไว้เหนือทางเข้าวัดในฐานะผู้พิทักษ์ ซึ่งภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ต่างมีชาวกัมพูชาออกมาแชร์ แถมยังขอบคุณที่ลาบูบู้โด่งดัง เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมกัมพูชาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดกำเนิดของเจ้าอาร์ตทอยนั้น ทาง “Kasing Lung” เคยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้าง “ลาบูบู้” ของเขาไว้ว่า ตอนคิดตัวละครทั้งหมดใน “The Monsters” เขาเป็นคนที่ชื่นชอบตัวละครเอลฟ์และเทพนิยายยุโรปมากๆ เขาจึงอยากให้มีการออกแบบให้เอลฟ์ 2 ขั้ว คือ เอลฟ์นิสัยดี และ เอลฟ์นิสัยดุร้าย นั่นจึงกลายมาเป็นไอเดียในการสร้าง “Labubu” ขึ้นมา เป็นเอลฟ์หูกระต่าย มีเขี้ยวแหลมคม ตามด้วยเอลฟ์อีกตัวคือ “Tycoco” เอลฟ์ที่ดูน่ากลัวด้วยหัวกะโหลก แต่กลับขี้อายเหมือนเด็กเก็บตัว
-ทำความรู้จักเจ้าเอลฟ์หน้าตาชั่วร้าย ‘ลาบูบู้’ อาร์ตทอยสุดฮอตฮิตที่ราคาพุ่งไม่หยุด
นอกจากนี้ หากดูข้อมูลจาก กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า “หน้ากาล หรือเกียรติมุข” เป็นลายประดับรูปใบหน้าของอสูรที่มีใบหน้าดุร้ายคล้ายยักษ์และสิงห์ อ้าปากกว้าง ริมฝีปากบนมีฟันและเขี้ยว มักจะทำท่าทางคายพรรณพฤกษา หรือท่อนพวงมาลัย หน้ากาลเป็นสัญลักษณ์แทนผู้กลืนกินทุกสรรพสิ่งตามคติในศาสนาฮินดู ส่วนในทางศิลปกรรม นิยมนำหน้ากาลมาประดับศาสนสถานบริเวณเรือนธาตุ หรือซุ้มจระนำ ตามคติความเชื่อในการปกปักรักษาศาสนสถานให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายต่างๆ
ซึ่งในศิลปะล้านนา สามารถพบเห็นชิ้นส่วนปูนปั้นลายหน้ากาลประดับอยู่บริเวณเรือนธาตุเจดีย์ ฐานเสาหรือซุ้มจระนำของศาสนสถาน โดยเฉพาะที่เจดีย์วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งจัดเป็นลายหน้ากาลที่มีความงดงามตามแบบเอกลักษณ์ของลายปูนปั้นเมืองเชียงแสน ผสมผสานศิลปะล้านนาเข้ากับศิลปะจีนและศิลปะพุกามของพม่า จนเกิดเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของเมืองเชียงแสนเอง..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @ASEAN Skyline,@กรมศิลปากร