คดีของนายปัญญา แสนคำ หรือลุงเปี๊ยก ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.อรัญประเทศ กระทำการโดยมิชอบระหว่างถูกควบคุมตัว เป็นหนึ่งคดีที่ได้รับความสนใจ และมีความคืบหน้าไปมาก โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนการเรียกเข้ารับทราบข้อหา ซึ่งในจำนวนนี้ไม่ได้มีเพียงตำรวจชุดจับกุม แต่รวมไปถึงระดับผู้บังคับบัญชาที่ต้องมีส่วนรับผิด หากพบความบกพร่อง
ดังนั้น หากไปถึงปลายทาง นี่อาจกลายเป็นคดีแรกๆที่ทำให้สังคมเห็นบรรทัดฐานการเอาผิดที่ชัดเจนขึ้นกับพ.ร.บ.อุ้มหายฯ
“ทีมข่าวอาชญากรรม”ชวนแกะรอยการทำงานก่อนเพื่อนำไปสู่บทสรุปกับ นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ข้อมูลว่าคดีลุงเปี๊ยกค่อนข้างแตกต่างจากกรณีอื่นๆ เพราะมีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้วก่อนรับเป็นคดีพิเศษ ทำให้ดีเอสไอสามารถนำข้อมูลก่อนหน้ามาใช้ประโยชน์ เช่น พยานเอกสาร สำนวนการสอบสวนเดิมในคดีการเสียชีวิตของนางบัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางสืบสวนสอบสวนได้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร รวมถึงไปดูพยานวัตถุคือ ภาพกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมที่อยู่ในห้องสืบสวน สภ.อรัญประเทศ จะได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไปจนถึงไล่ดูภาพวิดีโอที่สื่อมวลชนนำเอามาเผยแพร่ และสอบปากคำลุงเปี๊ยกในฐานะผู้เสียหายและถือเป็นประจักษ์พยาน
คดีลุงเปี๊ยกมีการสอบปากคคำพยานกว่า 10 ปาก ทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ แม้อาจไม่ได้เห็นทั้งหมด แต่ตำรวจแต่ละรายกระจายตามจุด หน้าที่ดีเอสไอคือนำถ้อยคำที่ได้ให้การมาต่อ“จิ๊กซอว์”เหตุการณ์ค่ำคืนนั้น ตั้งแต่ลุงเปี๊ยกเข้าไปดูสถานที่พบศพ ต่อเนื่องไปถึงขั้นตอนฝากขังลุงเปี๊ยกต่อศาลจังหวัดสระแก้ว จนได้เห็น“ภาพรวม”และแยกได้ว่ามีใครทำอะไรในวันเกิดเหตุบ้าง
นายอังศุเกติ์ ระบุ การสืบสวนสอบสวนคดีลุงเปี๊ยก ภายใต้เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ถือว่าเป็นคดีพิเศษคดีแรก อุปสรรคที่มักพบเกี่ยวข้องก้บข้อกฎหมาย เพราะการตีความบทบัญญัติและโทษต่างๆในพ.ร.บ.อุ้มหายฯจำเป็นต้องพูดคุย ศึกษา เพื่อปรับเข้ากับข้อเท็จจริงอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากยังไม่มีบรรทัดฐานการตัดสินของศาลมาก่อน ในการนำมาตีความคำนิยามของบทบัญญัติมาตราต่างๆที่ถูกระบุไว้
“ไม่ว่าจะเป็นความหมายในการควบคุมตัวผู้ต้องหาของเจ้าพนักงานที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ความหมายในการดำเนินการกับผู้ต้องหาว่าเข้าเงื่อนไขบทบัญญัติมาตราใด และเข้าด้วยข้อความใดหรือไม่ ทำให้ดีเอสไอต้องพยายามรวบรวมข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาประกอบกับการวินิจฉัยข้อกฎหมาย”
ตั้งแต่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ บังคับใช้มา 1 ปี นายอังศุเกติ์ ชี้ภาพรวมจากการสอบถามไปยังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ทราบว่าการร้องเรียนเกี่ยวกับกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย มีการกระทำความผิดในองค์ประกอบที่อาจเข้าข่ายพ.ร.บ.อุ้มหายฯลดลงมาก พร้อมตั้งเป้าเพิ่มเติมมิติการหารือข้อกฎหมายร่วมกันให้มากขึ้น ไม่ว่าจะการศึกษาแนวทางสั่งคดีของพนักงานอัยการ แนวคำพิพากษาของศาล ดีเอสไอจำเป็นต้องติดตาม เพื่อนำมาใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินคดีในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ทิ้งท้ายเรื่องการเน้นไปยังมาตรการป้องกัน โดยการออกไปให้ความรู้เกี่ยวกับการปฎิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานราชการ เพื่อให้ตระหนักว่าพฤติกรรมใด“สุ่มเสี่ยง”จะเข้าข่ายเป็นการการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.อุ้มหายฯ เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ภายใต้การบังคับบัญชาของตัวเองต้องถูกดำเนินคดี เพราะไม่ทราบถึงหลักปฏิบัติการควบคุมตัวผู้ต้องหา“ต้อง”ทำอะไรและ“ไม่ควร”ทำอะไร
“เป็นการกระตุ้นเตือนในสิ่งที่อาจผิดพลาดได้ โดยเราจะนำคดีของจริงอย่างกรณีลุงเปี๊ยก และข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสอบสวนไปเป็นวิทยาทานความรู้ เชื่อว่าจะเป็นการยกระดับให้เจ้าหน้าที่ไม่ตกเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง และในอีกนัยหนึ่งคือ ป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นผู้เสียหาย ผู้สูญเสีย หรือแพะในคดีอาญา” .
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน