อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งอันสืบเนื่องจากกรณีนี้ที่ก็ถูกโฟกัส รวมถึงมี “ปุจฉาอื้ออึง” คือ…การที่คนไทยยุคนี้มีการพึ่งพา “คำแนะนำ” จาก “ไลฟ์โค้ช” กันมากแบบไม่น่าเชื่อ?? แม้ว่าผู้ที่เป็นไลฟ์โค้ชจะมีอายุน้อยกว่ามาก ๆ ก็ยังสนใจพึ่งพา-สนใจคำแนะนำ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่สังคมน่าจะร่วมกันหาคำตอบเช่นเดียวกัน…

ทั้งนี้ กรณี “ไลฟ์โค้ช” นั้นเคยเป็นประเด็นครึกโครมในสังคมไทยแล้วหลาย ๆ ครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่สังคมไทยยุคหลัง ๆ คุ้นเคยและคุ้นหูกับคำว่า “ไลฟ์โค้ช” เพิ่มขึ้น ซึ่งในภาพรวม ๆ เรื่องนี้ก็มีแง่มุมน่าสนใจ ว่า…กับ “อาชีพไลฟ์โค้ช” นี้…

“เหตุใดจึงบูม?” เป็นอีกเทรนด์คนไทย

“เพราะอะไร?” จึงมีอิทธิพลกับบางคน

“จำเป็นแค่ไหน?” ที่ต้องมีคนชี้นำชีวิต

เกี่ยวกับประเด็นคำถามเหล่านี้…ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยมีการสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับคำตอบ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า… “ทำไมคนยุคนี้ถึงต้องพึ่งพาไลฟ์โค้ช?” หลังจากในไทย “อาชีพโค้ช (coaching) กลายเป็นอีกอาชีพที่มาแรง” จนมีหลายคนผันตัวมาเป็น “ไลฟ์โค้ช” ซึ่งก็มีทั้งคนที่เป็น “เน็ตไอดอล-คนดังวงการต่าง ๆ” ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางอาชีพนี้ โดย “ไลฟ์โค้ช” ชื่อดัง ๆ ที่มีแฟนคลับติดตามนั้นจะมี “ความเชี่ยวชาญ” ในการ “ให้คำปรึกษา-ให้คำแนะนำ” ที่แตกต่างกันไป…รวมถึงยังมี “เอกลักษณ์เฉพาะ” ที่แตกต่างกันอีกด้วย โดยจะ มีทั้งที่พูดจาไพเราะเสนาะหู…มีทั้งสไตล์ที่ดุดัน…

“ไลฟ์โค้ชคืออะไร?” “ไลฟ์โค้ชมีหน้าที่อะไร?”… จนถึงวันนี้ก็ยังเป็น “ปุจฉา” ที่หลายคนอยากได้คำตอบชัด ๆ ซึ่งลองค้นหา “นิยาม” คำว่า “ไลฟ์โค้ช” ก็จะพบคำจำกัดความที่หลากหลาย แต่โดยสรุปแล้วก็มีคำอธิบายดังนี้คือ… ไลฟ์โค้ชคือผู้ช่วยให้ชีวิตปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น โดยการผลักดันสู่เป้าหมายในเชิงบวก, ไลฟ์โค้ชคือผู้ทำหน้าที่ให้แรงบันดาลใจ ด้วยการสนับสนุน และผ่านการให้คำปรึกษา เพื่อให้คน ๆ นั้นอยากเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงชีวิต, ไลฟ์โค้ชมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยหาคำตอบ ไม่ได้ชี้คำตอบ เพราะมุ่งเน้นที่ตัวปัญหารายบุคคลมากกว่าปัจจัยแวดล้อม …นี่เป็น “คำจำกัดความ” โดยสรุป

แล้ว “ปัญหาใดที่นิยมพึ่งไลฟ์โค้ช?” กับเรื่องนี้ก็มีคำอธิบายจากหลาย ๆ แหล่งข้อมูลเช่นกัน ซึ่งโดยสรุปก็มีข้อมูลที่ระบุว่า… คนส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้บริการ “ไลฟ์โค้ช” จากปัญหาต่าง ๆ ได้แก่… ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน, ต้องการให้ช่วยในการวางแผนธุรกิจ, ต้องการแก้ปัญหาการหย่าร้าง, ต้องการแก้ปัญหาสุขภาพ, ต้องการแนวทางเพื่อความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงบางคนก็เลือกใช้ไลฟ์โค้ชเพราะ ต้องการหาเป้าหมายในชีวิต, ต้องการก้าวผ่านความกลัว หรือบางรายก็อยากให้ช่วยเรื่องสมดุลของชีวิต หรือแม้แต่ ต้องการให้ช่วยเติมเต็มชีวิต-ช่วยให้เข้าสังคมได้ดีขึ้น ก็มี

นี่คือหัวข้อที่คนมักจะ “พึ่งพาไลฟ์โค้ช”

มีทั้ง “ให้ช่วยแก้ปัญหาและชี้ทางชีวิต”

และเกี่ยวกับกระแส “ไลฟ์โค้ช” กระแสที่ก็ “บูมมาก” ในสังคมไทย ก็มีมุมวิเคราะห์ “มุมจิตวิทยาเชิงสังคม” จาก ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน หัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้เคยวิเคราะห์และสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ปัจจัยที่ทำให้ไลฟ์โค้ชได้รับความนิยมสูง เพราะยุคนี้ สังคมไทยเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และ เต็มไปด้วยการแข่งขันทางสังคมสูง จนทำให้หลายคนรู้สึกสับสนในชีวิต ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคม เมื่อต้องเผชิญแรง
เสียดทานมาก ๆ เมื่อต้องเผชิญสังคมการแข่งขันมาก ๆ ก็อาจส่งผลกระทบกับชีวิต…

“ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือ คนสมัยนี้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง แม้บุคลิกภายนอกดูเป็นคนเชื่อมั่นตัวเองสูง แต่เมื่อเกิดปัญหาจริง ๆ เมื่อต้องตกอยู่ท่ามกลางสังคมแข่งขัน ก็อาจทนแรงเสียดทานไม่ไหว หรือหากมีบางสิ่งไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจไปเลย” …นี่เป็น “ปัจจัยลึก ๆ” ที่เป็น… “แรงกระตุ้นสำคัญ” ทำให้เกิดอาชีพไลฟ์โค้ชนี้ ทำให้ในสังคมไทยยุคนี้ “ไลฟ์โค้ชเป็นเทรนด์ฮิต” ไม่น้อยเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ทาง ผศ.ดร.อรพิน ระบุอีกว่า… ถึงแม้ระยะหลัง ๆ นี้ในสังคมไทยจะมี “ดราม่า” เกี่ยวกับ “ไลฟ์โค้ช” ชื่อดังหลาย ๆ กรณี แต่โดยส่วนตัวแล้วก็ยังมองว่า… อาชีพนี้มี “ข้อดี” ต่อสังคม โดยไลฟ์โค้ชที่ออกมาให้คำแนะนำ-ให้ข้อคิดดี ๆ เพื่อสร้างพลังบวกให้กับผู้คน เพื่อให้คนเกิดแรงบันดาลใจที่ดี ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่เป็นกรณีดราม่าในสังคมขึ้นมานั้น ก็มาจากส่วนน้อย จากคนที่ไม่รับผิดชอบ หรือต้องการสร้างชื่อเสียงเพื่อให้มีคนสนใจเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาขึ้น

“เรื่องไลฟ์โค้ชนี้สะท้อนปรากฏการณ์สังคมไทยว่า…คนไทยยุคนี้มีแต่ความวิตกกังวลในชีวิต และการที่คนจำนวนหนึ่งต้องเติบโตจากสังคมสำเร็จรูป ทำให้ไม่คิดแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง แต่ต้องพึ่งคนอื่นให้ชี้นำหรือสรุปให้ ซึ่งไม่เว้นแม้แต่เรื่องการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิต” …เป็นการสะท้อนจากแหล่งข่าวนักจิตวิทยาท่านนี้…ถึงอาชีพนี้

ยุค “ต้องแข่งขัน-ต้องการสำเร็จไว ๆ”

ทำให้ “ไลฟ์โค้ชมีบทบาทขึ้นเรื่อย ๆ”

“ไลฟ์โค้ช” ยิ่ง “มีอิทธิพลต่อชีวิต??”.