กลายเป็นปัญหากวนใจของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน ที่ช่วงนี้โดนข้อความสั้นหรือ เอสเอ็มเอส( SMS) หลวงลวง กระหน่ำส่งเข้ามายังมือถือไม่เว้นวัน!!

นอกจากจะ “กวนใจ”แล้ว สำหรับคนที่ไม่รู้เท่าทันหลงไปกดหรือคลิกเช้าไปดู แล้วกรอกข้อมูล ตามคำเชิญชวนหว่านล้อมต่างๆ บางก็ว่า คุณเป็นผู้โชคดีถูกรางวัลได้รับเงิน ,  คุณได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือคุณมีเงินเข้าบัญชี จำนวนเท่านั้น เท่านี้ ฯลฯ อาจมีปัญหาปวดหัวตามมา เพราะอาจถูกแฮก หรือขโมยข้อมูล ทำให้สูญเสียทรัพย์สินเงินในบัญชีได้

โดยเฉพาะชาวบ้าน “ตาสีตาสา” ที่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารในเรื่องนี้ที่เกิดขึ้น เรียกว่า อุตส่าห์“เก็บหอมรอมริบ” มาทั้งชีวิตอาจหมดตัวได้ง่ายๆ

 เพราะเอสเอ็มเอสหลวงลวงเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาชีพที่ส่งมาหลอกลวงลวงข้อมูลเราไปสวมรอยเพื่อนำไป ทำธุรกรรมออนไลน์ และเป็นเว็บพนันออนไลน์ ที่ส่งลิงค์เชิญชวนให้เป็นลูกค้า หรือเป็นลิงค์แอพเงินกู้ออนไลน์ เรียกดอกเบี้ยโหด ถือว่าผิดกฎหมาย ฯลฯ

 เสียงบ่นถึงปัญหาเหล่านี้ของ“ประชาชน”ในสังคมดังขึ้นเรื่อยๆ หน่วยงานรัฐไม่ทำอะไรที่ช่วยคุ้มครองประชาชนเลยหรือ??

ทำให้ สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( สำนักงานฯกสทช.)ในฐานที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องออกมาสั่งกำชับให้ “ค่ายมือถือ” เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยให้ตรวจสอบและทำการบล็อกเอ็สเอ็มเอสหลวงลวงเหล่านี้  และให้ประสานแชร์จ้อมูลระหว่างกัน เพื่อทำ Blacklist ให้ทุกค่ายบล็อกเอสเอ็มเอสจากผู้ส่งรายเดียวกัน

 นอกจากนี้ทาง กสทช. จะนำข้อมูลเกี่ยวกับเอสเอ็มเอส หลอกลวง เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. (www.nbtc.go.th) เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบชื่อผู้ส่งข้อความที่น่าสงสัย เพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้

 อย่างไรก็ตามปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกส่งจาก ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา (Content Provider) ที่ได้ซื้อบริการส่งเอสเอ็มเอสจากโอปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการมือถือ และบางครั้งผู้ให้บริการเนื้อหา ก็นำไปขายต่อกับบริษัทหรือธุรกิจทำให้การตรวจสอบได้ยากว่านำไปส่งข้อความเกี่ยวกับอะไร

 ซึ่งกรณีนี้ ทาง สำนักงาน กสทช. ก็ออกมาคาดโทษ กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ให้บริการขายต่อ เอสเอ็มเอส และ ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา  หากทาง สำนักงาน กสทช. ได้รับแจ้งว่า บริษัทใด เป็นผู้ส่งเอสเอ็มเอส ที่มีลักษณะเนื้อหาเป็นการหลอกลวง จะตรวจสอบและพิจารณาลงโทษทางปกครอง ตั้งแต่ เตือน ปรับ พักใช้ใบอนุญาต  และโทษสูงสุด คือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ และจะดำเนินคดีตามกฎหมายควบคู่ไปด้วย

 การออกมา “เขียนเสือให้วัวกลัว” ก็ได้ผลระดับหนึ่ง เมื่อทางค่ายมือถือ ออกมาประสานเสียงพร้อมดำเนินการตาม กสทช.  และพร้อมร่ววมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเอสเอ็มเอสกันเพื่อทำการบล็อก

ภาพ pixabay

โดยทางทรู ยังได้เปิดศูนย์เฉพาะกิจรับแจ้งปัญหา เอสเอ็มเอส ที่มีข้อความไม่เหมาะสมผ่านหมายเลขพิเศษ โทร.  0-2700-8085 (ลูกค้าทรูมูฟ เอช โทรฟรี) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการปิดกั้น พร้อมแจ้งเตือนบริษัทคู่สัญญา ที่ใช้บริการส่งเอสเอ็มเอส หากตรวจพบมีการส่งข้อความที่ไม่เหมาะสมจะดำเนินการทางกฎหมายทันที

ด้านดีแทค ก็พร้อมยกระดับการระดับมาตรการการจัดการกับสแปม และ เอสเอ็มอส หลอกลวง  พร้อมทั้งให้ความรู้กับสังคมและประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ผ่าน dtac Safe Internet ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างเสริมทักษะ การรับมือภัยเสี่ยง บนโลกออนไลน์

ขณะที่ “ค่ายมือถือเบอร์หนึ่ง” ที่มีฐานลูกค้ามากที่สุดในไทย อย่าง “เอไอเอส” ก็ยืนยันว่า  จะทำการคัดกรอง ผู้ประกอบการที่ซื้อบริการแพ็กเกจเอสเอ็มเอส อย่างเข้มงวด หากพบว่า มีการส่งเอสเอ็มเอส ที่สร้างการรบกวน หรือ หลอกลวง จะทำการบล็อก และ ขึ้นทะเบียนต้องห้าม หรือ  Black List ผู้ประกอบการรายดังกล่าวทันที!!

พร้อมกับสื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้รู้เท่าทันกลุ่มมิจฉาชีพด้วยเช่นกัน โดยลูกค้าที่ได้รับเอสเอ็มเอสเหล่านี้สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ AIS Call Center หรือ กด *137 โทรฯ ออกฟรี  เพื่อบล็อก การได้รับ SMS ดังกล่าวทันที รวมถึงกรณีหากมีโทรศัพท์ที่โทรฯ เข้ามาสร้างความรำคาญใจ หรือ ก่อให้เกิดความเสี่ยง ก็สามารถโทรฯ แจ้งที่ AIS Call Center เพื่อรับคำแนะนำในการบล็อกการรับสายได้ด้วยตนเอง

 อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า “มิจฉาชีพ”ยังไงก็ต้องหาวิธีหลอกลวงเหยื่อให้ได้ แม้ช่องทางการส่งเอสเอ็มเอส จะไม่สะดวกเหมือนก่อน ก็ได้เปลี่ยนวิธีมาใช้โทรฯตรงเข้าหาเหยื่อเพื่อหลอกลวง อ้างว่า ว่าโทรมาจากหน่วยงานภาครัฐ  บอกเจ้าของเลขหมายว่าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล 2,000 บาท  หรือ มีสิทธิได้รับเงินกู้ 200,000 บาท บ้าง แล้วหลอกถามข้อมูลส่วนตัว

ภาพ pixabay

จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน ซึ่งทางสำนักงาน กสทช.ได้ ขอความร่วมมือจากประชาชน ให้โทรฯแจ้ง ร้องเรียนที่คอลเซ็นเตอร์ โทรศัพท์ 1200 (โทรฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของมือถือที่ใช้อยู่ หากมีหลักฐานเป็นคลิปเสียงของมิจฉาชีพที่โทรเข้ามาหลอกลวงก็ยิ่งดี เพราะสามารถตรวจสอบ ได้ว่าเบอร์ที่โทรฯ เข้ามาใครเป็นผู้ลงทะเบียนเป็นเจ้าของเบอร์ เพื่อประสานงานกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพเหล่านี้

สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะเป็น “เกราะป้องกันตัวเอง”ได้ดีที่สุด เมื่อได้รับ เอสเอ็มเอส เหล่านี้แล้ว ให้เราตั้งสติ อย่าโลภเห็นแก่จำนวนเงิน หรือ ของรางวัลจากข้อความที่ส่งมาหลอกล่อ ไม่คลิกลิงก์ในข้อความน่าสงสัย และกรอกให้ข้อมูลส่วนตัว ให้กับผู้ส่งที่ไม่รู้จัก และหากสงสัยให้โทรฯสอบถาม หรือติดต่อธนาคารหรือ หน่วยงานนั้นๆโดยตรง

 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องก็สามารถลดความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อได้!!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์