นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับวันที่ 6-14 ต.ค. 64 ว่า บรรยากาศกินเจปีนี้ไม่คึกคัก คาดว่า จะมีมูลค่าใช้จ่าย 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% จากปี 63 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 46,967 ล้านบาท เป็นอัตราการติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี ตั้งแต่สำรวจครั้งแรกเมื่อปี 51 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน รายได้ลดลง, ค่าครองชีพสูง-สินค้าราคาแพง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงมีการใช้จ่ายลดลงมาก

“ผลการสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคถึง 60.9% ระบุ ไม่กินเจ เพราะวิตกเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ตั้งใจจะกินอยู่แล้ว อาหารเจแพง และอยู่ในช่วงทำงานที่บ้านมากขึ้น มองว่า หาซื้อไม่สะดวก ทำให้คนทำงานกว่า 60% ระบุไม่กินเจ ส่วนอีก 39.1% ระบุกินเจ แต่กินเฉพาะเทศกาล และส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้น โดย 62.9% ตั้งใจกินครบ 9 วัน”

ทั้งนี้ แหล่งของเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วงกินเจปีนี้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ 81.9% ตอบรายได้ประจำ, 7.7% เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่คนตอบนำเงินส่วนมาใช้มีเพียง 0.4%, 4.5% เงินออม กู้ยืม, 3.4% รายได้พิเศษ ลดลงจากปีก่อนที่ 7.2% และอีก 1.8% เงินที่บุตร/หลานให้ เป็นที่น่าสังเกตกว่าครึ่งจะใช้จ่ายในลักษณะซื้อลดทั้งปริมาณและมูลค่าและผู้บริโภคยังระบุว่า เงินใช้จ่ายต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ระบุว่า ใช้เงินจากรายได้พิเศษลดลงมาก สะท้อนถึงรายได้ประชาชนแย่ลง เป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากโควิด-19 ประชาชนส่วนใหญ่ตอบได้รับผลกระทบทางลบมาก เพราะรายได้ลดลง, หนี้สินเพิ่ม, ค่าครองชีพทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ-ไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ตแพงขึ้น, หางานทำยาก และไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ จึงต้องการให้รัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศ เพื่อสร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกลัวกับการระบาดระลอกใหม่ ไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์ใหม่ๆ และยังฉีดวัคซีนไม่ครบ  

นอกจากนี้รัฐต้องเติมเงินเข้าไปในโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีก 1,500 บาท จากเดิม 1,500 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนในระบบได้อีกกว่า 90,000 ล้านบาท รวมกับเงินของประชาชนอีก 90,000 บาท ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้อีก 2-3 รอบ รวมถึงต้องฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพราะจะทำให้คนมีเงินเอาเงินของตัวเองมาใช้จ่าย เพื่อรับสิทธิลดหย่อนภาษี ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่รัฐยังจำเป็นต้องใช้มาตรการการคลังต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงตรุษจีน เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีหน้าโตได้ไม่น้อยกว่า 5%

“ปีนี้เศรษฐกิจไทยโตได้แน่ 1% แต่ปีหน้าต้องทำให้โตมากกว่า 5% หรือ 6-8% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้ารัฐสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ท่องเที่ยวกลับมา, ประคองค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อน สร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก เพื่อให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, เร่งฉีดวัคซีนให้ครบโดส และเข็มกระตุ้น และคุมการแพร่ระบาด, รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งจ้างงาน ซื้อวัตถุดิบในประเทศ, ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ, เร่งดึงต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยและเที่ยวไทย เป็นต้น”