พลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) มุ่งเน้นการฝึกอบรมความรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติ ภายใต้โครงการ ไทยแลนด์ เนชั่นแนล ไซเบอร์ อคาเดมี่ (Thailand National Cyber Academy) ในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงระดับผู้ฝึกสอน และผู้บริหารในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะสามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์เมื่อเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ พร้อมทั้งเอาตัวรอดจากการโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี ล่าสุดได้ร่วมมือกับ เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นพันธมิตรสนับสนุนด้านความรู้ต่างๆ พร้อมจัดฝึกอบรมให้บุคลากรภาครัฐและเอกชนให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการ กมช. กล่าวว่า จากผลสำรวจไทยแลนด์ ดิจิทัล เอาต์ลุค 2020 ไทยยังขาดแคลน บุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากกว่า 1 แสนราย ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ต้องหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้มี ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มากขึ้น เช่น โรงพยาบาลบางแห่งมีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คน ต้องดูแลระบบ คอมพิวเตอร์มากกว่า 500 เครื่อง ทาง สกมช.จึงมีแผนเร่งด่วนในระยะต้นพัฒนาบุคคลด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ให้ได้ 2,250 คนในปีนี้ จากทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไป พร้อมทำหลักสูตรในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งความร่วมมือ กับ เทรนด์ไมโคร การอบรมจะมีระยะเวลา 3 เดือน เน้นการพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถเป็นเทรนเนอร์ เพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรของตนได้ด้วย

ด้าน น.ส.ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลกรในการสนับสนุนเพื่อยกระดับเจ้าหน้าที่ให้มีความเชี่ยวชาญในการดูแลปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และแก้ไขเบื้องต้นเมื่อเกิดการโจมตีได้ โดยเนื้อหาในการอบรมแบ่งออกได้ 3 หลักสูตร ตั้งแต่หลักสูตรพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ หลักสูตรสำหรับผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน และหลักสูตรสำหรับผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

“ปัจจุบันประเทศไทยถือว่ามีบุคลากรด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ทั้งในภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในบริษัทไอที เพียงแต่หากมองในจำนวนปริมาณอาจจะยังน้อย ไม่เพียงพอ ซึ่งทางเทรนด์ไมโคร ก็พร้อมจะสนับสนุนภาครัฐในการจัดอบรมเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรไทย เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” น.ส.ปิยธิดา กล่าว