เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.ได้ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และผู้ประกอบกอบการ คือ เอไอเอส ทรู ดีแทค เอ็นที และ 3บีบี เพื่อเร่งแก้ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวง และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน ให้มีประสิทธภาพ ซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ทำการบล็อกไปแล้วจำนวน 150 ผู้ส่ง และได้นำข้อมูลเพื่อให้ทางตำรวจ ตรวจสอบและสอบสวนเพื่อดำเนินคดีในส่วนที่ผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตามมิจฉาชีพได้เปลี่ยนวิธีการโดยใช้โทรฯเข้ามือถือโดยตรง ก็ได้ประสานกับทางผู้ให้บริการ และ บช.สอท. โดยนำหลักฐานเบอร์โทรฯให้ทางตำรวจตรวจสอบจากการลงทะเบียนเปิดเบอร์ เพื่อดำเนินคดีต่อไป นอกจากนี้มิจฉาชีพยังได้พยายามเอาข้อมูลหลอกลวงประชาชนเข้ามาใส่แฝงในกลุ่มเอสเอ็มเอสไวท์ลิสต์ ก็จะให้ทางผู้ให้บริการมือถือตรวจสอบที่ได้ขายบริการเอสเอ็มเอสไปแล้วจะแก้ไขได้อย่างไร รวมถึงการโทรผ่านอินเทอร์เท็ต (VoIP)ที่มีการปลอมเบอร์เพื่อหลอกลวงด้วย จึงอยากฝากประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้แจ้งเข้ามาได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ สำนักงาน กสทช. โทรฯ 1200 (โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือแจ้งไปยังคอลเซ็นเตอร์ ของค่ายมือถือที่ท่านใช้บริการอยู่เพื่อตรวจสอบต่อไป

“การดำเนินงานร่วมกับ บช.สอท. จะทำให้การดำเนินการเอาผิดและดำเนินคดีกับมิจฉาชีพ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะทาง บช.สอท. มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสำนักงาน กสทช. มองว่าจะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้บริการ และโอปเรเตอร์เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อข้อความจาก เอสเอ็มเอส โดยง่าย อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆในลิงก์ที่ส่งมา หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ไปกับคนที่โทรฯมาสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ง่ายๆ ควรตรวจสอบที่มาของเอสเอ็มเอส หรือหน่วยงานที่โทรศัพท์เข้ามาให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรมจนก่อความเสียหายได้” นายไตรรัตน์ กล่าว

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ตอนนี้เอสเอ็มเอสหลอกลวงแพร่ระบาดมากถือเป็นต้นทางที่เข้าถึงได้ง่ายตั้งแต่ประชาชนรากหญ้าถึงคนรวย ซึ่งคนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนรากหญ้า โดยเฉพาะที่เชิญชวนเล่นพนัน เงินกู้ผิดกฎหมาย ฯลฯ แม้แต่มือถือของตนก็ยังโดนส่งเข้ามา ก็ได้ส่งข้อมูลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบพิสูจน์ ทราบตัวบุคคล ที่เป็นเจ้าของเบอร์แล้ว

“ตนได้เคยเรียนคณะทำงานของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาเอสเอ็มเอส หากมีการเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ในส่วนของเอสเอ็มเอสตามเสาสัญญาณทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลกลาง จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุตัวตนผู้ส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงได้ จึงต้องของความร่วมมือกับผู้ให้บริการมือถือทั้งหมด ซึ่งในส่วนของ บช.สอท. ขอแจ้งเตือนให้ผู้กระทำหยุดการส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงนี้ ไม่เช่นนั้นทางตำรวจจะไปหาต้องถูกดำเนินคดีแน่นอน”

ด้านผู้ให้บริการโทรศัทพ์มือถือทุกค่ายยืนยันว่าได้ให้ความร่วมมือกับทาง กสทช.บล็อกเอสเอ็มเอสที่ตรวจพบ มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบผู้ประกอบการที่เข้ามาซื้อบริการส่งเอสเอ็มเอสให้เข้มมากขึ้นหากตรวจสอบมีการนำไปขายต่อ หรือมีการส่งเอสเอ็มเอสในลักษณะนี้ หรือมีการนำข้อมูลมาแฝงในกลุ่มไวท์ลิสต์จะส่งข้อมมูลให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.