“ขาสั้น คอซอง” สัปดาห์นี้ มาพร้อมกับสุดยอดผลงานแนวคิดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชนไทยที่่ได้รับคัดเลือกไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยนายซาโตชิ ฟุรุคาวะ นักบินอวกาศญี่ปุ่น ในห้องปฏิบัติการคิโบะโมดูล (Kibo Module) ตามโครงการ  “Asian Try Zero-G 2023” ที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) จัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้ส่งแนวคิดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำเข้าร่วมแข่งขันกับเยาวชนจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในครั้งนี้แจ็กซาได้เลือกข้อเสนอการทดลองจาก 8 ประเทศ จำนวน 16 เรื่อง ขึ้นไปทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ในจำนวนการทดลองที่ได้รับคัดเลือกเป็นการทดลองของเยาวชนไทยถึง 3 เรื่อง โดยทีมเยาวชนไทย 7 คนเจ้าของแนวคิดการทดลองยังได้เข้าร่วมติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติแบบเรียลไทม์ที่ห้องบังคับการศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่นด้วย

สำหรับไอเดียของเยาวชนไทยที่ได้รับคัดเลือก 3 เรื่อง คือ 1.เรื่อง “ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้าสถิต (Water spheres and electrostatic force)” เสนอโดย “ฟุง” ชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ ชั้นม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 2.เรื่อง “การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Stranger things two ball on string)” เสนอโดย “เฟรม” ณัฐภูมิ กูลเรือน, “ต้นกล้า” จิรทีปต์ มะจันทร์, “เพียว” ฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล และ “ต้นน้ำ” ภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ ชั้นม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และ3. เรื่อง “การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Starfish exercise for microgravity)” เสนอโดย “มุก” วรรณวลี จันทร์งาม และ “เอม” พุทธิมา ประกอบชาติ ชั้นม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม 

“ฟุง” บอกว่า ไอเดียการทดลองที่นำเสนอครั้งนี้ต้องการศึกษาว่าแรงไฟฟ้าสถิตมีผลกับก้อนน้ำทรงกลมในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างไร ด้วยการนำไม้บรรทัดพลาสติกมาถูกับผ้า และนำปลายไม้บรรทัดเข้าไปจ่อใกล้ๆ ก้อนน้ำที่ถูกยึดไว้กับถุง เพื่อสังเกตว่าก้อนน้ำขยับหรือเปลี่ยนรูปร่างตามที่ถูกแรงไฟฟ้ากระทำหรือไม่ ซึ่งผลการทดลองบนสถานีอวกาศพบว่าแรงไฟฟ้ามีผลกับก้อนน้ำอย่างชัดเจน โดยเมื่อนักบินอวกาศนำไม้บรรทัดพลาสติกที่มีประจุไฟฟ้าเข้าไปใกล้ก้อนน้ำ เริ่มแรกก้อนน้ำขยับเข้าหาประจุทั้งก้อนโดยมีส่วนที่ติดกับปลายหลอดของถุงยึดไว้อยู่ และเมื่อนำไม้บรรทัดเข้าใกล้เพิ่มไปอีก ก้อนน้ำก็หลุดออกมาจากปลายหลอดและลอยขึ้น การได้มีโอกาสเห็นการทดลองจากสิ่งที่เราคิดและอยากรู้ ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจ นอกจากนี้การได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ เช่น แบบจำลองของ KIBO Module สถานที่ฝึกนักบินอวกาศ และห้อง Mission Control  รวมทั้งได้พบกับคุณโนริชิเงะ คะไน นักบินอวกาศญี่ปุ่น ที่มาช่วยบรรยายและตอบคำถามโดยตรง ทำให้ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจที่ดีมาก 

ด้าน “เฟรมและเพียว เล่าว่า การทดลองของทีมมีที่มาจากการศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของเพนดูลัม (pendulum) ที่มีลักษณะเป็นลูกบอลสองลูกผูกติดไว้กับเชือก เมื่อทำให้หมุน ชุดการทดลองจะทำให้ลูกบอลทั้งสองลูกเกิดการหมุนในระนาบที่แตกต่างกัน กลุ่มของเราพบว่าการเคลื่อนที่ของลูกบอลเกิดขึ้นได้จากแรงตึงเชือกและแรงโน้มถ่วง จึงสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งอยู่ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยตั้งสมมติฐานว่า หากไม่มีแรงโน้มถ่วงคอยดึงลูกบอลลงสู่พื้นแล้ว เมื่อทดลองลูกบอลจะค่อยๆลอยขึ้นจนสุดที่ระนาบเดียวกับมือของนักบินอวกาศผู้ทดลอง ซึ่งผลการทดลองออกมาในลักษณะที่คล้ายกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือ เมื่อทดลองแล้ว ลูกบอลเคลื่อนที่ขึ้นจริงๆ และยังมีส่วนที่ไม่เหมือนกับสมมติฐานของเราคือลูกบอลนั้นลอยขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และลูกบอลนั้นยังลอยสูงขึ้นเกินกว่าระนาบเดียวกับมือของนักบินอวกาศผู้ทดลองด้วย รู้สึกประทับใจที่ได้เข้าร่วมนำเสนอโครงการที่สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการเลือกเส้นทางการศึกษาของพวกเราในอนาคตด้วย 

ขณะที่ มุก เป็นตัวแทนทีมเล่าว่า แนวคิดการทอลองของเราเกิดจากการเห็นว่าปัญหาของนักบินอวกาศซึ่งต้องเจอขณะออกไปทำภารกิจในอวกาศ คือการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เราอยากให้ออกกำลังกายแบบ Bodyweight แต่ปัญหา คือ ต้องใช้น้ำหนักของตัวเองมาเป็นแรงต้าน จึงเสนอแนวคิดแก้ปัญหานี้โดยการใช้  Resistance Band  เป็นอุปกรณ์เพิ่มแรงต้าน ส่วนที่มาของท่าดาวทะเลคิดขึ้นมาจากสาเหตุที่ว่า เมื่อนักบินอวกาศออกกำลังกายในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ตัวนักบินอวกาศจะไม่สามารถอยู่ติดกับพื้นได้หากไม่มีอุปกรณ์เสริม จึงเลือกเลียนแบบท่าทางธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้เคลื่อนที่บนบก ซึ่งก็คือท่าทางของดาวทะเลที่ทำตามได้ง่าย และเหมาะกับการออกกำลังกายในอวกาศ โดยผลการทดลองน่าประทับใจมาก เพราะว่าคุณซาโตชิ ฟุรุคาวะ นักบินอวกาศญี่ปุ่นผู้ทำการทดลองบอกว่า มีการใช้กล้ามเนื้อส่วนใดบ้างในขณะที่ทดลอง ซึ่งตรงตามที่เราได้คาดการณ์ไว้ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลงเลย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการไปเรียนรู้ครั้งนี้มาใช้ประโยชน์อย่างแน่นอน 

งานนี้ ทีมงาน “ขาสั้น คอซอง” บอกได้เลยว่า เยาวชนไทยทั้ง 7 คน ที่ได้ร่วมติดตามรับชมการถ่ายทอดสดการทดลองจากสถานีอวกาศนานาชาติแบบเรียลไทม์ที่ห้องบังคับการศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น และยังมีโอกาสสื่อสารพูดคุยกับนักบินอวกาศโดยตรง ทั้งได้เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสึกุบะ ที่เน้นด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ถือว่าเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่จะช่วยจุดประกายความฝันและแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยกลุ่มนี้ สนใจพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน