นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. ประจำปี 64 หัวข้อ สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังเจอความเสี่ยงที่จะไม่ยืดหยุ่นและไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายในอนาคต ทำให้ต้องเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยทั้งเพิ่มความสามารถในการหลีกเลี่ยงผลกระทบ, เพิ่มความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ และเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบ ซึ่งได้มีข้อเสนอ 7 แนวทาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปรับโครงสร้าง เพิ่มภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน
สำหรับข้อเสนอแรกคือ ต้องบริหารความเสี่ยงภาพรวมของประเทศที่ดี บูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ และวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ แม้มีโอกาสเกิดขึ้นต่ำ แต่สร้างความเสียหายสูงด้วย โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ภาครัฐอาจทำหน้าที่ประสานงาน หรือจัดหาแพลตฟอร์มในการดำเนินการ, แนวทางที่ 2 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พร้อมรับความท้าทายในอนาคต เช่น การปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สังคมสูงวัย และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป โดยภาครัฐอาจออกนโยบายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและครัวเรือนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ส่วนแนวทางที่ 3 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และเพิ่มการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาครัฐอาจสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนในกิจกรรมและพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น, แนวทางที่ 4 ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น สร้างความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ และให้แรงงานและธุรกิจต่าง ๆ รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีในยามวิกฤติ โดยภาครัฐอาจสร้างแรงจูงใจให้แรงงานและธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบ
ขณะที่แนวทางที่ 5 ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมทั้งเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐาน การศึกษา การประกอบอาชีพ การแข่งขันทางธุรกิจ และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งภาครัฐจะต้องกำกับดูแล ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงไม่สร้างและบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม, แนวทางที่ 6 สร้างโครงข่ายความคุ้มครองเพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจอยู่รอดได้ในยามวิกฤติ ตั้งแต่ความสามารถในการช่วยเหลือและพึ่งพาตนเอง
ด้านแนวทางที่ 7 ลดการเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในยามวิกฤติ เพื่อให้ครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่น สร้างสายป่านที่ยาวพอ ให้ธุรกิจดำเนินอยู่ได้และจ้างงานต่อเนื่อง ฝึกทักษะแรงงานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนไปหลังวิกฤติ สร้างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ กระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ และกระบวนการล้มละลายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจ ธปท.มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินและระบบการเงิน ด้านสังคมมีแนวทางในการพัฒนาระบบการเงินและส่งเสริมความเข้าใจทางการเงินให้ครัวเรือนและธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความขัดแย้งทางสังคมที่อาจเกิดตามมา และด้านสิ่งแวดล้อม ธปท.มีแนวทางที่จะสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างแรงจูงใจให้เอกชนปรับตัวไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้