นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดขณะนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับเรื่องอุทกภัยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาโดยตลอด ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้สั่งหน่วยงานในสังกัดให้เตรียมความพร้อมไว้ หากเกิดพายุในพื้นที่ต้องได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด และมีประสิทธิภาพ โดยเตรียมความพร้อมในการป้องกัน, การฟื้นฟู และการเยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลายในทุกมิติ พร้อมทั้งเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.
ขณะเดียวกันบางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่พบว่าบางจุดมีน้ำมามาก ทำให้รับมือไม่ทัน แต่เมื่อน้ำลดกระทรวงคมนาคมจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขทันที และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุน้ำท่วมมีการปิดกั้นการจราจร มีการวางกรวย และป้ายบอกทาง รวมทั้งได้มอบนโยบายว่าให้ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมเจ้าท่า (จท.) เตรียมความพร้อมเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนด้วย นี่คือการทำงานของกระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพบก และกระทรวงมหาดไทย
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือการเกิดน้ำท่วมส่วนหนึ่งอาจจะมาจากโครงการก่อสร้างของ ทล. หรือ ทช. จึงสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปสำรวจพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศว่ามีจุดไหนที่น้ำเคยผ่านได้และได้เข้าไปก่อสร้างกั้นทางน้ำ ขอให้ทำโครงการที่จะเป็นทางที่น้ำผ่านได้อย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงและแข็งแรง
หลังจากนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งประเทศให้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำผ่านและข้างถนนต้องทำเป็นทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำท่วมบ้านประชาชนและถนน ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ทล และ ทช. สำรวจข้อมูลทั้งหมด เพื่อประมวลผลภายใน 30 วัน
สำหรับการซ่อมบำรุงถนนหลังจากน้ำลดนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วน เช่น การซ่อมกลับมาคืนสู่สภาพเดิม ใช้งบประมาณ 2 ส่วน คือ 1.งบปกติ ที่หน่วยงานได้ตั้งงบประมาณไว้อยู่แล้วในแต่ละปี และ 2.ถ้ามีจำนวนเงินเกินกว่าที่งบประมาณตั้งไว้ก็ให้ดำเนินการของบกลาง ที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาโดยตลอด ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะทำเป็น 2 มิติ คือนำไปไว้ในงบประมาณปี 66 ซึ่งกำลังจะมีปฏิทินการดำเนินงานภายในเดือน ต.ค.นี้ และจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.66 อย่างไรก็ตาม หากมีเรื่องไหนที่มีปัญหาจำเป็นเร่งด่วนจะต้องรายงานนายกรัฐมนตรี เพื่อของบกลางดำเนินการต่อไป