เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) และโครงการทางหลวงมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า โครงการมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว เป็นโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ส.ค.60 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินโครงการฯ ให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) แบบ Gross Cost ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้ ทล. ดำเนินการในขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมาตามลำดับ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกการดำเนินการ O&M มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทาง วงเงินรวม 39,138 ล้านบาท อายุสัมปทาน 30 ปี
สำหรับการใช้รูปแบบ PPP ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบมอเตอร์เวย์ของ ทล. ในครั้งนี้นั้นถือเป็นโครงการแรกในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐได้อย่างมาก รวมถึงจะใช้ความเชี่ยวชาญและศักยภาพของภาคเอกชน มาร่วมดำเนินการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการให้บริการประชาชน ทั้งยังเป็นการยกระดับมอเตอร์เวย์สู่ระบบสากลด้วย หลังจากนี้ ทล. จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเข้าดำเนินการตามแผนที่วางไว้ต่อไป โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผน และไม่มีความล่าช้า เนื่องจากก่อนที่ลงนามสัญญาในวันนี้ ทล. กับเอกชนได้หารือเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้เบื้องต้นแล้ว หากส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามแผน ทล. จะขยายเวลาให้แต่ไม่มีการชดเชยเรื่องค่าปรับหรือไม่มีค่าโง่ตามมา
ทั้งนี้มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทางจะใช้ระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือระบบ M-Flow 100% จากเดิมทั้ง 2 เส้นทางจะมีด่านเก็บค่าผ่านทาง นอกจากนั้นจะใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาบริหารจัดการ รวมถึงใช้ระบบกล้อง CCTV ประสิทธิภาพสูงในการจับภาพระยะทาง 2 กม. ทำให้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ สามารถบริหารการจราจรอย่างเป็นระบบ อีกทั้งช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริหารจัดการจราจร แจ้งข่าวสารให้ประชาชนทราบในการเดินทาง ประหยัดบุคลากร และงบประมาณด้วย
มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา มีความคืบหน้า 94% อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขรูปแบบเพิ่มเติม 17 สัญญา คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในปี 64 ขณะที่มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มีความคืบหน้า 62% อย่างไรก็ตามคาดว่ามอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทาง จะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนทดลองวิ่งใช้ฟรี 3 เดือน ช่วงปลายปี 66 จากนั้นคาดว่าต้นปี 67 จะเปิดเต็มรูปแบบและจัดเก็บค่าผ่านทางต่อไป
เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ได้สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ลดระยะเวลาเดินทางจาก 3 ชม. เหลือ 1 ชม.กว่า ในอนาคตจะขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ ผ่านการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) เพื่อเชื่อมไปยัง จ.หนองคาย บึงกาฬ และอุบลราชธานี ต่อไป ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไปยังภาคตะวันตก และประเทศเมียนมาได้เช่นกัน
ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญระหว่างกรมทางหลวงและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR โดยรายละเอียดสัญญาแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M-Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ
ระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้