การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.ย.64 เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จากเดิมกำหนด 60% เพิ่มเป็น 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง เนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) เพื่อเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ของ GDP เทียบกับ ณ สิ้นปีงบฯ 2564 (เดือนกันยายน) คาดว่าจะอยู่ที่ 58.96%
“วิจัยกรุงศรี” ประเมินการขยายเพดานหนี้สาธารณะไปที่ระดับ 70% ถือเป็นระดับที่โครงสร้างของประเทศยังรองรับได้ และยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย การขยายเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่การดำเนินมาตรการของภาครัฐซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการช่วยสร้างรายได้ที่ลดลงมากและเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีเคยเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดวงเงินราว 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 6 มาตรการ ได้แก่
1.การให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว 16,000 ล้านบาท
2.การรักษาระดับการจ้างงาน 285,000 ล้านบาท
3.การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ 20,000 ล้านบาท
4.การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน 200,000 ล้านบาท
5.การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ 43,000 ล้านบาท
6.การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน 132,000 ล้านบาท
โดยคาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยประคองตัวอยู่ที่ 3.25% จากช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 อยู่ที่ 3.53%