จากรายงานของสำนักข่าวเอพี ความเคลื่อนไหวของ สภาหอการค้าสหภาพยุโรปในจีน เกิดขึ้นหลังจากทางการปักกิ่งประกาศแผนรณรงค์ เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมอุตสาหกรรมของประเทศ และใช้เทคโนโลยีของต่างชาติน้อยลง

แผนยุทธศาสตร์ใหม่ของปักกิ่งมีความเสี่ยง ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ มีแนวโน้มอ่อนแรงลงในระยะยาว บวกกับทัพแรงงานหดตัว และเข้าสู่วัยชราอย่างต่อเนื่อง

แผนการของพรรคคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้ความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐ และอีกหลายประเทศ ที่มองว่าเป็นการละเมิดข้อผูกพันทางการค้าเพิ่มขึ้นอีก

รัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสี่ยงปิดกั้นนวัตกรรม จากการเพิ่มความเข้มงวดข้อจำกัด บริษัทอินเทอร์เน็ต และธุรกิจเอกชนอื่น ๆ รวมทั้งความพยายามสร้างสิ่งทดแทน ชิปประมวลผล และเทคโนโลยีอื่น ๆ ของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

ทางการปักกิ่งเรียกร้องไปยังธนาคาร บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และอื่น ๆ พยายามใช้เทคโนโลยีจีน แม้ว่าเทคโนโลยีทางเลือกของต่างชาติอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า

นายยอร์ก วูดเคอ ประธานสภาหอการค้าอียูในจีน กล่าวว่า แผนเพิ่มความเข้มงวด ในการควบคุมเศรษฐกิจและการเมือง ของรัฐบาลจีน จะส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างแน่นอน

จากการประเมินของสภาหอการค้าอียู การปฏิรูปตลาดแบบเต็มที่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวประชากรของจีน จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าครึ่ง ภายใน 25 ปี จนถึงปี 2589

 แต่จะเพิ่มเพียงแค่ 2 เท่า หากปักกิ่งเดินหน้าดำเนินการตามแผนพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยี

สภาหอการค้าอียูในจีน ซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจประมาณ 1,700 บริษัทในยุโรป ยังได้อ้างข้อมูล การประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งระบุว่า จีนมีประสิทธิผลเพียงแค่ 30% เมื่อเทียบกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่ระดับหัวแถวของโลก อย่าง สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือเยอรมนี

ในรายงานของสภาหอการค้าอียู เรียกร้องปักกิ่งเปิดกว้างมากขึ้น ภาคการสื่อสารโทรคมนาคม การเงิน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รัฐบาลควบคุม แก่เอกชนและคู่แข่งขันต่างชาติ

รายงานฯ รวบรวมคำชี้แนะ 930 ข้อ รวมถึง เรียกร้องทางการจีนสร้างความชัดเจน เกี่ยวกับการควบคุมความมั่นคงไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคล และกฎเกณฑ์อื่น ๆ และรับประกันว่าจะดำเนินการเฉพาะกรณีที่จำเป็น

นอกจากนั้น จีนควร “เพิ่มการรวมตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก และหลีกเลี่ยงนโยบายพึ่งพาตนเอง”

ไอเอ็มเอฟ และกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ภาคเอกชน ทำนายว่า เศรษฐกิจจีนจะติบโตถึง 8.5% ในปีนี้ ขณะที่ฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่คาดว่าอัตราเติบโต จะลดลงต่ำกว่า 5% หลังปี 2568 ซึ่ง ณ เวลานั้น ประชากรสูงวัยของจีนต้องใช้จ่ายเงินทางด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น

รายงานฯ ยังได้เรียกร้องให้ปักกิ่ง อนุญาตให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปเยือนประเทศมากขึ้น

เนื่องจากพนักงานลูกจ้างชาวต่างชาติบางส่วน มีความจำเป็นอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจ และติดค้างอยู่ต่างแดน หลังจากทางการจีนระงับการเดินทาง เมื่อช่วงต้นปี 2563 เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

จากการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดของจีน พบว่า มีชาวต่างชาติ 845,697 คน อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่  คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.06% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 1,446 ล้านคน

จำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้ และกรุงปักกิ่ง เมืองใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของจีน ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 27 ล้านคน ลดลง 60% จากปี 2562 เหลือ 127,000 คน เมื่อปีที่แล้ว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES