สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวเมื่อวันอังคารว่า เขายังไม่ได้ตัดสินใจ เกี่ยวกับการเดินทางไปยังเมืองกลาสโกว์ ที่สกอตแลนด์ ในสหราชอาณาจักร ช่วงเดือนพ.ย.นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) ครั้งที่ 26 หรือ "คอป 26" 
ทั้งนี้ ผู้นำออสเตรเลียชี้แจงว่า เขาหมายถึงการต้องเดินทางไปต่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งตลอดทั้งปีนี้เขาปฏิบัติภารกิจนอกออสเตรเลียแล้วหลายครั้ง และต้องกักตัวหลายครั้งเช่นกัน ขณะที่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ เขาต้องการให้ความสำคัญกับการกลับมาเปิดพรมแดนของออสเตรเลีย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาล คือ การเปิดประเทศในเดือน ธ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ท่าทีดังกล่าวของมอร์ริสันเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักจากนานาประเทศ ที่มีต่อนโยบายถ่านหินของออสเตรเลีย โดยมอร์ริสันเคยกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ ว่า นโยบายส่งออกถ่านหินของประเทศ จะเดินหน้าต่อไปตราบเท่าที่สามารถรองรับอุปสงค์ในตลาดโลกได้ ซึ่งระดับความต้องการในปัจจุบันยังคงสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่แสดงความหวังว่า เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจะสามารถช่วยให้ออสเตรเลียบูรณาการทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง กับการการผลิตและส่งออกถ่านหิน "ให้เปลี่ยนไปในทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น" 
ขณะที่ นายคีธ พิตต์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติของออสเตรเลีย กล่าวว่า ถ่านหินเป็นสินค้าส่งออกซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศสูงเป็นอันดับสอง รองจากแร่เหล็ก โดยการจำหน่ายถ่านหินสร้างรายได้เข้าสู่ออสเตรเลียปีละประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ( ราว 1.2 ล้านล้านบาท ) และสร้างงานโดยตรงภายในประเทศมากกว่า 50,00 ตำแหน่ง บ่งชี้ความต้องการถ่านหินของออสเตรเลียในตลาดโลก ยังคงอยู่ในระดับสูง 
แต่รายงานของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ระบุว่า ความเป็นจริงแล้ว อุตสาหกรรมถ่านหินและเหมืองแร่มีสัดส่วนในตลาดการจ้างงานของออสเตรเลียเพียง 2% และมีข้อเสนอแนะไปยังองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( โออีซีดี ) ซึ่งออสเตรเลียเป็นหนึ่งในสมาชิก ให้ลดการใช้ถ่านหินอย่างเป็นขั้นตอน จนกระทั่ง "เข้าสู่ภาวะเป็นศูนย์" ภายในปี 2573.

เครดิตภาพ : AP