ประเด็นถกเถียงล่าสุดเกิดขึ้นหลังมีสมาชิกคนหนึ่งของเว็บบอร์ดดังเว็บบอร์ดหนึ่งโพสต์บอกเล่าเรื่องราวงานวิวาห์พี่สาวของตนเอง ที่มีเหตุการณ์ทำให้เกิด “วิวาห์ล่ม” จากการที่ ฝ่ายเจ้าบ่าวเกิด “ไม่พอใจกับจำนวนประตูเงิน-ประตูทอง” ที่ญาติ ๆ เพื่อน ๆ ฝ่ายเจ้าสาวนำมากั้น!! โดยทางฝ่ายเจ้าบ่าวถึงขั้นตัดสินใจหอบ “สินสอด” ที่นำมาสู่ขอเจ้าสาวกลับออกไปจากงานพิธีวิวาห์ ซึ่งหลังเรื่องนี้ถูกนำมาโพสต์ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-ถกเถียงกันเซ็งแซ่หลายแง่มุม…

ถกเถียงกรณี “ประตูเงินประตูทอง”

แล้วก็พาให้ถกต่อถึง “สินสอด” ด้วย!!

ทั้งนี้ โฟกัสที่กรณี “สินสอดวิวาห์” ในภาพรวม ๆ ไม่เฉพาะเจาะจงคู่ใด กรณีนี้ยุคนี้ก็มีหลายคนที่มีปุจฉาคาใจไม่น้อยว่า “มูลค่าสินสอดควรต้องเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม??” ซึ่งเรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอไว้ในช่วงที่สังคมไทยเคย มีเหตุ “วิวาห์ล่ม” ซ้ำ ๆ ติดต่อกัน และเมื่อพลิกแฟ้มดูแล้วมาถึงตอนนี้ข้อมูลที่เคยนำเสนอไปก็ยังร่วมสมัย โดยเป็นข้อมูลจากวิทยานิพนธ์หัวข้อ “ถ้าฉันจะแต่งงานควรจะได้รับหรือจ่ายสินสอดเท่าไร” โดย ภศุ ร่วมความคิด ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่มีการเผยแพร่ไว้ผ่านทาง เว็บไซต์ setthasat.com โดยมีการ “ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เพื่อหาวิสัชนาของปุจฉาสินสอด”…

เพื่อการ “ประเมินมูลค่าสินสอด”

ย้อนดูกันโดยสังเขปจากวิทยานิพนธ์ที่ได้มีการศึกษาเพื่อ ค้นหาคำตอบ “มูลค่าสินสอด” ผ่าน “มุมเศรษฐศาสตร์” ทาง ภศุ ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้ได้มีการเกริ่นถึงที่มาแนวคิดของการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ว่า… การประเมินมูลค่าสินสอดนี้เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ โดยนำ “แบบจำลองเฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model)” มาใช้ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อจะมีการแต่งงาน หัวข้อที่ฝ่ายหญิงหรือเจ้าสาวมักจะหยิบยกขึ้นมาก็คือ “ควรจะเรียกสินสอดเท่าใด?” ขณะที่ทางฝ่ายชายหรือเจ้าบ่าวก็มักจะอยากได้คำตอบว่า “ควรจะให้สินสอดเท่าไหร่?” …อย่างไรก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็ดูเหมือนสังคมจะมีความชัดเจนน้อยมาตลอด

…นี่จึงเป็นที่มาการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทางผู้ทำการศึกษาแจกแจงไว้ว่า… “แต่งงาน” นั้น ดูกัน ในทางเศรษฐศาสตร์ “ถือเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกัน (Binding Commitment)” ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และในวัฒนธรรมไทย “ให้สินสอด” ถือเป็น กิจกรรมส่วนหนึ่งของการแต่งงาน
ขณะที่ ในทางเศรษฐศาสตร์ “สินสอดจัดเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์” ในรูปแบบหนึ่ง ของข้อตกลงแต่งงาน หรือการหมั้น ที่ไม่ได้มีการซื้อขายผ่านตลาด (Non-Marketable Trade) ดังนั้น สินสอดไม่มีราคาตลาด (Non-Market Price) จึงไม่สามารถใช้วิธีการทั่วไปในการประเมินมูลค่าได้ ซึ่งราคาสินสอดถูกกำหนดผ่านกระบวนการเจรจาต่อรอง…

หรือที่มักเรียกว่าการ “เจรจาสินสอด”

กับ “กระบวนการเรียกสินสอดของฝ่ายหญิง” นั้น มักจะมีการตกลงเบื้องต้นก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาสู่ขอจริง โดยถ้าฝ่ายหญิงเรียกสินสอดสูงเกินไป ฝ่ายชายก็จะต่อรอง จนถึงจุดที่ “ฝ่ายหญิงพอใจ” และ “ฝ่ายชายจ่ายได้” แต่เนื่องจากสินสอดไม่มีราคาทางตลาด ผู้ศึกษาจึง ใช้แบบจำลองเฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model) มาอธิบายเรื่องนี้ โดยนำตัวแปรคุณลักษณะต่าง ๆ ของฝ่ายชายกับฝ่ายหญิงมาวิเคราะห์ และกำหนดให้คู่บ่าว-สาวเป็นผู้ร่วมต่อรองราคาซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ในการศึกษาเรื่องนี้… “มูลค่าสินสอดหลังต่อรอง” จะอยู่ที่ระดับ “ราคาดุลยภาพ (Equilibrium Price)” โดยผู้ศึกษากำหนดให้มูลค่าและราคาสินสอดเป็นสิ่งเดียวกัน ขณะที่ มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายชายเต็มใจจ่าย (Willingness to Pay) ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีค่าเท่ากับ มูลค่าสินสอดที่ฝ่ายหญิงพึงจะรับ (Willingness to Accept) ส่วนกลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้…เก็บข้อมูลจากคู่แต่งงาน 220 คู่ ช่วงปี 2526-2550 ซึ่งพบว่าระยะเวลาคบหาก่อนแต่งนานสุดคือ 18 ปี สั้นสุด 1 ปี โดยที่…

สูงสุด 6.7 ล้านต่ำสุด 1 หมื่นกว่า”

…นี่เป็นข้อมูล “สินสอด” จากทางกลุ่มตัวอย่าง โดยมี ค่าเฉลี่ยสินสอดอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาท และเมื่อลงรายละเอียด… กรณี ใช้เงินสดเป็นสินสอด มูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 1.7 ล้านบาท มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนบาท ส่วนกรณี ใช้ทองคำเป็นสินสอด มูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 99 บาททองคำ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10 บาททองคำ …นี่เป็น “มูลค่าสินสอด” จากงานศึกษาชิ้นนี้ ซึ่งก็พบด้วยว่า “คุณลักษณะที่มีผลต่อมูลค่าสินสอด” ทั้งฝ่ายชาย-หญิง มักประกอบด้วย… ระดับรายได้, ระดับการศึกษา, ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นกับ “อำนาจต่อรอง” ของสองฝ่ายด้วย เช่น รูปร่างหน้าตา บ่าว-สาว หรือ ความเจ้ากี้เจ้าการของพ่อแม่ บ่าว-สาว ที่ก็อาจมีผลให้ดุลยภาพมูลค่าสินสอดเปลี่ยนแปลง

เหล่านี้คือ “มุมเศรษฐศาสตร์” ว่าด้วย “สินสอด” ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ “ถ้าฉันจะแต่งงานควรจะได้รับหรือจ่ายสินสอดเท่าไร” โดย ภศุ ร่วมความคิด …ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเทียบ “สินสอด” กับ “ค่าผ่านประตูเงิน-ประตูทอง” แล้วล่ะก็…

“ค่าสินสอด” นี่ “ประเด็นคลาสสิกกว่า”

“วิวาห์ล่ม-อลเวง” ที่ “เพราะสินสอด”

“เกิดขึ้นบ่อย ๆ” จน “นับไม่ถ้วน!!”.