ในช่วงหลัง เทสล่า ถูกผู้ผลิตจากจีนช่วงชิงพื้นที่ ด้วยการนำเสนอรถยนต์ในกลุ่มที่มีราคาต่ำกว่ารถที่เทสล่ามี และแม้ว่า รถรุ่นโมเดล Y (Model Y) ของพวกเขาจะสามารถทำยอดขายได้มากถึง 1.2 ล้านคัน แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น พวกเขาต้องมีรถราคาประหยัดออกมาให้ได้ ดังนั้น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอของ เทสล่า จึงตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปีหน้าคือ ปี 2025 นี้ พวกเขาจะต้องเปิดตัวรถที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทให้จงได้ และรถคันนั้นมีชื่อ โครงการว่า “เรดวู้ด” (Redwood) รถที่จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการผลิตรถไฟฟ้าในยุคต่อไป

อีลอน มัสก์ ประกาศกร้าวว่า จนกว่ารถในโครงการ เรดวู้ด จะสำเร็จได้ เหล่าคนงาน และวิศวกร ของเทสล่า จะต้องเตรียมตัว “กินอยู่หลับนอน” ในโรงงานกันยาว เพราะงานนี้ ต้องสู้ตาย! คำขู่ของ อีลอน มัสก์ นี้ไม่ใช่เรื่องตลก เพราะเขาขึ้นชื่อเรื่องการเป็น “เผด็จการ” ในที่ทำงานตัวจริง และรถรุ่นใหม่นี้เชื่อกันว่าจะปฏิวัติวิธีการประกอบรถยนต์ในโรงงาน ในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นอีกด้วย แม้ว่าในปัจจุบันโรงงาน “กิกะแฟคตอรี่” (Gigafactory) ของพวกเขา ก็ถือว่าเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แต่พวกเขาจะทำให้มันดีขึ้นไปอีกให้ได้ โดยเขาตั้งเป้าว่าจะ ลดขนาดโรงงานลง แต่ในขณะเดียวกันก็จะลดความหนาแน่นภายในโรงงานลง 44% แต่ผลิตรถได้มากเท่าเดิมให้ได้

สิ่งที่ท้าทายที่สุดของโปรเจกต์นี้ก็คือ การควบคุมต้นทุน เพราะเห็นได้ชัดว่า รถรุ่นล่าสุดของพวกเขา กระบะไฟฟ้า “ไซเบอร์ทรัค” (Cybertruck) นั้นมีต้นทุนเกินกว่าที่คาดการณ์ไปมากกว่า 50% แต่เพราะ อีลอน มัสก์ ต้องการที่จะให้มันเป็น “ตำนาน” ดังนั้นมันจึงเป็นรถที่สุดโต่งที่สุด เท่าที่โลกเคยรู้จัก

แต่กับโครงการรถสำหรับมหาชน อย่าง “เรดวู้ด” หรือรหัสภายในว่า NV9X นั้น มันจะสุดโต่งมากไม่ได้ โดยทีมงานของเทสล่า ได้ทำการศึกษาดูว่าผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นผลิตรถยนต์ราคาถูกอย่างไร ให้มีคุณภาพดี โดยเขาได้ซื้อ รถฮอนด้าซีวิค ใหม่ๆ มาแยกชิ้นส่วนเพื่อศึกษาวิธีการผลิตรถยนต์ราคาถูก โดยพวกเขาตั้งเป้าว่าจะผลิตรถรุ่นใหม่นี้ในโรงงานของเทสล่า ที่เบอร์ลิน และที่อินเดีย

ว่ากันว่า รถรุ่นใหม่นี้ จะเป็นแพลตฟอร์ม เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของพวกเขา โดยแพลตฟอร์ม เจนเนอเรชั่นแรกนั้น เราเห็นได้ในรถรุ่น โมเดล S และ โมเดล X ซึ่งใช้เทคโนโลยี โมดูลาร์ (Modular) แบบสเก็ตบอร์ด (Skateboard Platform) คือ มีแบตเตอรี่ประกอบเข้ากับช่วงล่างหน้าและท้าย และนำเอาตัวถังมาวางด้านบน

ส่วนเจนเนอเรชั่นที่ 2 นั้นคือสิ่งที่ใช้กับรุ่นโมเดล 3 และ​โมเดล Y ซึ่งก็คือการหาแนวคิดการลดต้นทุนการผลิต ด้วยเทคโนโลยีการหล่อซัพเฟรมเป็นชิ้นเดียวด้วยเครื่อง กิกะเพรซ (Giga Press) แทนการประกอบชิ้นส่วนนับร้อยชิ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้กว่าครึ่ง รวมถึงนำเอาแบตเตอรี่มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างช่วยทำให้รถเบาลงและแข็งแรงขึ้น

และสำหรับเจนเนอเรชั่นที่ 3 นี้ จะเป็นการรื้อฟื้นระบบโมดูล่าร์ อีกครั้ง เพื่อที่จะสามารถสร้างรถที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด ภายใต้สถาปัตยกรรมเดียวกัน และจะสามารถสร้างรถที่มีความแตกต่างด้านสเปกในแต่ละท้องที่ได้ง่ายขึ้น และจะใช้สิ่งที่หยิบยืมมาจากไซเบอร์ทรัคก็คือ การใช้การเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูงระหว่างชิ้นส่วนต่างๆ ในรถด้วยความเร็วระดับ กิกะบิต (Gigabit) ที่มีชื่อว่าระบบ อีเธอร์ลูป (Etherloop) อันเป็นสิทธิบัตรของเทสล่า ที่จะลดจำนวนสายไฟลงให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทั้งยกระดับระบบไฟในรถขึ้นเป็น 48 โวลต์ เพื่อที่จะลดขนาดของสายไฟในรถลง และนอกจากนั้น มันจะเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติยุคต่อไปของพวกเขาด้วย

ด้านเส้นสายทรวดทรงนั้น เชื่อกันว่า จะเป็นวิวัฒนาการด้านความคิดมาจากรถรุ่นไซเบอร์ทรัค ผสมผสานกับแนวทางที่เราคุ้นเคยกันกับรถโมเดล Y ที่เป็นรถที่ขายดีที่สุดของเทสล่า โดยรถ เรดวู้ด จะมีพิกัดตัวรถในกลุ่ม B-Suv ครอสโอเวอร์ขนาดกะทัดรัด หรือใกล้เคียงกับ BYD แอตโต้ 3 (Atto 3) นั่นเอง ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีรูปภาพของรถคันจริงออกมา แต่ก็มีคนคิดกันไปต่างๆ นานา ว่ามันจะหน้าตาเช่นไร แต่เชื่อได้ว่า มันจะทำให้ค่ายอื่นๆ เหงื่อตกแน่นอน.

โดย ภัทรกิติ์ กิติโกมล