เมื่อวันที่ 27 ก.ย.64 กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดงานแถลงข่าว “ประกาศผลการพิจารณาโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564” พร้อมทำพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จากห้องประชุม สดช. ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ในการนี้มีผู้รับทุน ผู้บริหารและคณะกรรมการกองทุนพัฒนาดิจิตอล รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมกว่า 100 โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พร้อมนางอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการ สดช. ร่วมแถลงข่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากการเปิดรับข้อเสนอจากหน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน และบุคคลทั่วไป ภายใต้กรอบนโนบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้าน Digital Manpower, ด้าน Digital Health, ด้าน Digital Agriculture, ด้าน Digital Technology,ด้าน Digital Government & Infrastructure และด้าน Digital Agenda ที่มีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมถึงเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ เอกชน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน พบว่ามีโครงการที่เสนอเข้ามากว่า 600 โครงการ ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณา จนได้โครงการที่เป็นประโยชน์ และตรงตามเป้าหมายของกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ รวมทั้งสิ้น 46 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน แบ่งเป็นโครงการวงเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 14 โครงการรวมวงเงินทั้งสิ้น 2,881,456,560 บาท

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการที่ผ่านการอนุมัติจะเป็นโครงการที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอด ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาทั่วประเทศ เช่น การจัดตั้งศูนย์การแพทย์ทางไกล Telemedicine โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม เพื่อรองรับการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือ, การพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการความปลอดภัย สาธารณะ ของตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี, การจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC, การบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารเมืองเบตงอัจฉริยะ, การพัฒนาระบบการอบรมทักษะดิจิทัลพื้นฐานที่จำเป็น และทักษะขั้นสูงเฉพาะทาง เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรดิจิทัลทางการศึกษา ซึ่งจะนำไปขยายผลในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั่วประทศ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร การพัฒนาระบบตรวจสอบสิทธิการโอนสิทธิให้ทายาทในพื้นที่เกษตรกรรมด้วยดิจิทัลของสปก., การพัฒนาระบบการบริหารจัดการรถ Logistic Platform ของ ปณท., การบริหารกองทุนหมู่บ้านด้วยระบบดิจิทัล ที่มีมากกว่า 80,000 กองทุน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น “ดิจิทัลไทยแลนด์” อย่างเต็มรูปแบบต่อไป

ขณะที่ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ทั้ง 46 โครงการผ่านการพิจารณารายละเอียดตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจากคณะทำงานวิเคราะห์โครงการ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ เพื่อให้ได้โครงการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสาธารณะและไม่เป็นการแสวงหากำไร โดยไม่เป็นการทำลายการแข่งขันอันพึงมีตามปกติวิสัยของกิจการภาคเอกชน  

ด้าน นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล มีความยืดหยุ่นสูง สอดรับกับวิสัยทัศน์ของกองทุนดิจิทัลฯ ในการเป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นการพิจารณาโครงการจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นในทุกขั้นตอนและครอบคลุมการพัฒนาทั่วประเทศ สร้างความมั่นใจได้ว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศจะไม่กระจุกตัวอยู่เพียงเมืองหลัก แต่จะลงไปถึงระดับท้องถิ่น โดยโครงการที่ได้รับการอนุมัติยังเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดการพัฒนาต่อไป

“สำหรับการดำเนินการต่อไป ทุกโครงการที่ผ่านการอนุมัติจะเข้าสู่ขั้นตอนการเซ็นต์สัญญา เพื่อดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในการนี้ทางกองทุนฯจะดำเนินการติดตามและประเมินผลการดําเนินงานโครงการจะอยู่ภายใต้หลักของความโปร่งใสและชัดเจนในทุกขั้นตอนเป็นสำคัญ ให้ผลที่ได้รับจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ของกองทุนฯในการเป็นกองทุนชั้นนำในการผลักดันและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลต่อไป” นางวรรณพร กล่าวทิ้งท้าย