แม้ไฟร์วอลล์ของเติร์กเมนิสถาน มีประสิทธิภาพ แต่รัฐบาลยังคงยกระดับมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลภายนอกรั่วไหลเข้าสู่ประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีเซอร์ดาร์ เบอร์ดีมูคาเมดอฟ และผู้นำเติร์กเมนิสถาน ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขามีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ

นอกจากสื่อสังคมออนไลน์ บริการต่าง ๆ เช่น วอตส์แอป, ไวเบอร์, ซิกนัล และเทเลแกรม ก็ถูกบล็อกเช่นกัน แต่เติร์กเมนิสถานมี “บิซบาร์เด” (Bizbarde) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันส่งข้อความในประเทศ และมี “เบเลต” (Belet) เป็นช่องทางรับชมคลิปวิดีโอแทนยูทูบ โดยทั้งสองแพลตฟอร์มอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล

“มันไม่มีภูมิทัศน์ของสื่อ” นายรุสลาน มีอาเทียฟ เจ้าของเว็บไซต์ Turkmen.News ซึ่งถูกบล็อกภายในเติร์กเมนิสถาน กล่าว “ชาวเติร์กเมนิสถานไม่เห็นอะไรเลย นอกจากโฆษณาชวนเชื่อที่โปรโมตลัทธิบูชาบุคคลของเบอร์ดีมูคาเมดอฟ ทั้งคนพ่อและคนลูก และเพื่อป้องกันไม่ให้ความเป็นจริงคู่ขนานที่สร้างขึ้นต้องล่มสลาย ผู้ปกครองประเทศจึงปิดกั้นอินเทอร์เน็ต”

อนึ่ง สื่อทั้งหมดในเติร์กเมนิสถาน เป็นของรัฐ และเผยแพร่ข่าวอย่างเป็นทางการเท่านั้น โดยรายงานถึงประชาชนที่กล่าวชื่นชม และขอบคุณระบอบการปกครองของเบอร์ดีมูคาเมดอฟ

“รายการโทรทัศน์ของเติร์กเมนิสถาน น่าเบื่อมาก ไม่มีข้อมูลที่น่าสนใจ และมีแต่รายการเดิม ๆ ออกอากาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า” ข้าราชการคนหนึ่ง ในกรุงอัชกาบัต กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาเคยดูช่องโทรทัศน์ต่างประเทศผ่านสัญญาณดาวเทียม แต่ตอนนี้เขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาถึงที่บ้าน และบอกให้เขาถอดจานดาวเทียมออก โดยให้เหตุผลว่า มันทำลายสถาปัตยกรรมของเมือง

แม้สถานีโทรทัศน์ข่าวของตะวันตกบางแห่ง เช่น ฟรานซ์ 24, บีบีซี และยูโรนิวส์ ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศในเติร์กเมนิสถาน แต่เนื่องจากประเทศไม่ค่อยมีคนพูดภาษาอังกฤษ นั่นจึงทำให้ฐานผู้ชมของช่องเหล่านี้ น้อยลงตามกันไป

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังของการนำเสนอที่ได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบ คือความจริงที่ว่า เติร์กเมนิสถาน เป็นประเทศที่มีประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ย่ำแย่

“ฟรีดอม เฮาส์” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (เอ็นจีโอ) จัดอันดับให้เติร์กเมนิสถาน อยู่ในกลุ่ม “เลวร้ายที่สุดของที่สุด” ในด้านอิสรภาพทางการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง โดยได้คะแนนต่ำกว่าเกาหลีเหนือเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้น เติร์กเมนิสถาน ยังอยู่ในอันดับล่างสุดของดัชนีเสรีภาพสื่อ ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ)

อย่างไรก็ตาม ชาวเติร์กเมนิสถานบางส่วนมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป บางคนรู้สึกดีใจที่ประเทศของพวกเขามั่นคง อีกทั้งการอ่านข่าวสารที่ควบคุมโดยรัฐ ยังให้ความรู้สึกของเสถียรภาพและความสงบสุข เพราะมันไม่มีบทวิจารณ์ หรือข้อมูลเชิงลบใด ๆ เลย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP