ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 กับทางหลวงหมายเลข 417 (แยกสนามบิน) พื้นที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี วงเงินงบประมาณ 1,324.951 ล้านบาท แล้วเสร็จ และเปิดให้ประชาชนสัญจรเรียบร้อย
โดยมีรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับที่เป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 41 ช่วง กม.159+450-กม.162+661 ระยะทาง 3,211 เมตร กับทางหลวงหมายเลข 417 (แยกสนามบิน) ช่วง กม.0+000-กม.0+950 ระยะทาง 950 เมตร รวมระยะทาง 4,161 เมตร มีลักษณะการก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการจราจรแบบทิศทางเดียว ประกอบด้วย
สะพานที่ใช้สัญจรจากท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานี ไปยัง อ.เกาะสมุย อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.ขนอม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มีทางขึ้นตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 41 ที่ กม.161+100 ถึงทางลงบริเวณทางหลวงหมายเลข 417 ที่ กม.0+300 ขนาด 2 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 9.50-12 เมตร มีความยาว 627.50 เมตร
สะพานที่ใช้สัญจรจาก จ.ชุมพร ข้ามแยกไป อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา จ.กระบี่ และ จ.ตรัง มีทางขึ้นบนทางหลวงหมายเลข 41 ที่ กม.160+668 ถึงทางลงที่ กม.161+145 ขนาด 4 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 15 เมตร มีความยาว 447.27 เมตร รวมงานก่อสร้างสะพานกลับรถ จำนวน 1 แห่ง ขนาด 1 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้าง 6.50-10 เมตร ความยาว 597 เมตรและสะพานข้ามคลอง จำนวน 1 แห่ง
อีกทั้งได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 41 และ ทางหลวงหมายเลข 417 เดิมขนาด 4 ช่องจราจร เป็นขนาด 14 ช่องจราจร (ไป-กลับ ทิศทางละ 7 ช่องจราจร) รวมระยะทาง 4,161 เมตร พร้อมก่อสร้างระบบระบายน้ำและบ่อพัก ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยและป้ายจราจร
ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาคด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เนื่องจากแยกสนามบิน เป็นเส้นทางเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติสุราษฎร์ธานีกับพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนเที่ยวบินและปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริเวณแยกดังกล่าวมีปริมาณการจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
ดังนั้นโครงการนี้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ยกระดับให้บริการ และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ทาง สนับสนุนเป้าหมายการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาคได้เป็นอย่างดี