แม้การถอนตัวจากประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก หรือ “อีโควาส” ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 15 ประเทศ ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 ปี และเปิดโอกาสให้มีการเจรจา แต่ถ้าความเคลื่อนไหวดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ มันจะส่งผลให้กระแสการค้าและบริการของภูมิภาค มูลค่าเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 5.3 ล้านล้านบาท) เกิดการชะงักงัน
“หากทั้งสามประเทศตัดสินใจออกจากอีโควาส มันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และประชาชนที่มาจากประเทศเหล่านี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงระดับสูงสุด” นายเซดิก อับบา ประธานของคลังสมอง “ไซเรส” (CIRES) ในกรุงปารีส กล่าว
รัฐบาลทหารของทั้งสามประเทศ ร่วมกันประกาศถอนตัวจากอีโควาส เมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยกล่าวหา อีโควาสละทิ้งหลักการก่อตั้ง, ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจต่างชาติ และให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ในการต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบ ตลอดจนกลายเป็นภัยคุกคามต่อสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ และประชาชน
อย่างไรก็ตาม นายชาร์ลี โรเบิร์ตสัน หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์มหภาคของบริษัทจัดการการลงทุน “เอฟไอเอ็ม พาร์ทเนอร์ส” ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของทั้งสามประเทศ มีแนวโน้มที่จะเป็นการทำร้ายตัวเองแบบไร้วิจารณญาณที่สุด นับตั้งแต่สหราชอาณาจักร ลงประชามติลาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ เบร็กซิต
“ทั้งสามประเทศอยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในอีโควาส และกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ซึ่งการออกจากอีโควาส ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขาเลย” โรเบิร์ตสัน กล่าวเพิ่มเติม
อีกด้านหนึ่ง ประชาชนในมาลี, บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ มีความเห็นที่แตกต่างกันไป บางคนสนับสนับสนุนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหาร เนื่องจากอีโควาส ประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ขณะที่คนบางกลุ่มมองว่า ประเทศของพวกเขาไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยปราศจากอีโควาส
อนึ่ง อีโควาส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพยายามส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในแอฟริกาตะวันตก แต่มาลี, บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์ ต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรอย่างหนัก เนื่องจากกลุ่มพยายามผลักดันการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนผ่านการเลือกตั้ง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาผู้สันทัดกรณีด้านความมั่นคงกล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และแบ่งปันข่าวกรองมากขึ้น เพื่อรับมือกับการก่อความไม่สงบในวงกว้าง ทว่าวิกฤติครั้งล่าสุดที่อีโควาสประสบ กลับเน้นให้เห็นถึงความแตกแยกที่เพิ่มขึ้น ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีชาติตะวันตกเป็นพันธมิตร กับประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งต้องพึ่งพารัสเซียและจีนมากขึ้น.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP