รายงานจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม มีนโยบายมอบหมายให้ ทล. เร่งดำเนินการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ ในพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อทดแทนการใช้งานของสะพานสารสินที่ให้บริการปัจจุบัน (ตัวเดิม) ให้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ลอดผ่านไปได้ และไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางอ้อมนั้น
ทล. เตรียมขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 68 จำนวน 80 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานสารสินแห่งใหม่ เมื่อได้รับงบแล้วจะดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อให้ศึกษาโครงการสะพานสารสินแห่งใหม่ดังกล่าว คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 15 เดือน และผลการศึกษาเสร็จกลางปี 69
โดยจะดำเนินการศึกษาออกแบบรูปแบบสะพาน ขนาดช่องจราจร เทคนิคการก่อสร้าง แนวเส้นทางขึ้น-ทางลง การรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่ลอดผ่านสะพานได้ และการเชื่อมต่อบริเวณสะพานสารสินกับโครงการในอนาคต จ.ภูเก็ต เช่น โครงการทางด่วน สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ และโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง (Motorway-Rail Map: MR-MAP) โครงการ MR9 เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต รวมทั้งงบประมาณการลงทุน แผนดำเนินการก่อสร้าง การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่
รวมทั้งการพิจารณาแนวทางดำเนินการกับสะพานสารสินในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและประโยชน์มากที่สุด เช่น หากสะพานสารสินตัวใหม่แล้วเสร็จ สะพานตัวเดิมนี้จะดำเนินทุบทิ้งหรือไม่ หรือจะมีการปรับปรุงสะพานตัวเดิม เพื่อให้สามารถเปิด-ปิดสะพานได้ในช่วงเวลาที่เรือสำราญขนาดใหญ่ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป
สะพานสารสิน จ.ภูเก็ต เป็นสะพานแห่งแรกที่เชื่อมระหว่าง 2 จังหวัด ได้แก่ บ้านท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และบ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 สายโคกกลอย-เมืองภูเก็ต หรือถนนเทพกระษัตรี เป็นสะพานคอนกรีตอัดแรง ขนาด 2 ช่องจราจร ทิศทางละ 1 ช่องจราจร ความยาวรวม 360 เมตร มีทางเท้า เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2510 โดยชื่อของสะพานตั้งตามนามสกุลของนายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น และ เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 9 อีกด้วย
หลังจากนั้นมีการก่อสร้างสะพานอีก 2 แห่งขึ้นมาใหม่ในบริเวณเดียวกัน โดยสร้างคู่ขนานไปกับสะพานสารสิน คือ สะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร หรือ สะพานสารสินแห่งที่ 2 ซึ่งสะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร จะมีขนาด 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง เมื่อนำสะพานสองตัวมารวมกันทำให้มีขนาด 4 ช่องจราจร มีความยาวสะพานรวม 650 เมตร และมีช่องลอด 8.2 เมตร จากระดับน้ำสูงสุด เพื่อรองรับปริมาณจราจรบนทางหลวงหมายเลข 402 ทั้งทิศทางขาเข้าและขาออก ระหว่าง จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา ปัจจุบันสะพานสารสินมีปริมาณจราจรขาเข้าและขาออกรวมทั้งหมด 28,758 คันต่อวัน แบ่งเป็น ขาเข้า 14,664 คันต่อวัน ขาออก 14,094 คันต่อวัน
เมื่อสะพานสะพานสารสินแห่งที่ 2 แล้วเสร็จ ก็ได้เลิกใช้สะพานสารสิน (ตัวเดิม) เนื่องจากสภาพชำรุดทรุดโทรม และได้ดำเนินการปรับปรุงสะพานสารสิน (ตัวเดิม) ให้เป็นสะพานลอยคนเดินข้ามและศาลาพักผ่อนชมทิวทัศน์ ออกแบบให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ผสมผสานกับอาคารหลังคาทรงปั้นหยาแบบภาคใต้ที่มีความสวยงาม และยังเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งในการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และพังงา อีกด้วย
รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) แจ้งว่า ข้อมูลสถิติเรือสำราญขนาดใหญ่ที่ใช้บริการท่าเรือในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ในปี 66 พบว่ามีจำนวนเที่ยวเรือรวม 66 เที่ยว ผู้โดยสารจำนวนรวม 229,412 คน แบ่งเป็น ท่าเรือภูเก็ต 27 เที่ยว ผู้โดยสาร 76,057 คน และท่าเรือป่าตอง 39 เที่ยว ผู้โดยสาร 153,355 คน