เคียงคู่กับบรรยากาศการจัดการแข่งขัน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดนิทรรศการ “Natural is The BEST เพื่อสุขภาวะที่ดีของสังคม” เล่าถึงเรื่องราวการทำงานของสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา ม.มหิดล หรือรู้จักกันในนาม “ศูนย์โด๊ป” มีชื่อเป็นทางการว่า “ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา” จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามมาตรฐานสากล

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการโอลิมปิกสากล มาเป็นประธานเปิดนิทรรศการพร้อมกล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานทั้งสองได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการและกิจกรรม ที่พิเศษกว่านั้นคือ การประกาศให้นักกีฬาระดับโลก ให้หน่วยงานกีฬาระดับนานาชาติ ได้แก่ Badminton World Federation หรือ BWF ได้ทราบว่า ประเทศไทยมี ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด เป้าหมายของ สสส. คือ ป้องกันการเกิดปัจจัยเสี่ยงทางสังคมด้านการป้องกันการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคม โดยร่วมกันจัดชุดนิทรรศการเคลื่อนที่ขนาดย่อม ให้ความรู้เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง และไม่เสพสารกระตุ้นที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย และความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันกีฬาให้แก่นักกีฬา เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป

ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี

นักกีฬาใช้กัญชาต้องระวัง

สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา” ก่อตั้งมาแล้ว 29 ปี และเป็น 1 ห้องปฏิบัติการมาตรฐานสากล 1 ใน 30 แห่งทั่วโลก และเป็นห้องปฏิบัติการเดียวในเอเชียอาคเนย์ ขณะนี้หน่วยงานการวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬาทั่วโลกจำนวน 30 แห่งได้ขึ้นทะเบียนสารต้องห้ามไว้ประมาณ 300 ชนิด และในอนาคตต้องเพิ่มเป็น 500 ชนิด

“กกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย)จะมีหนังสือสรุปว่ามีสารต้องห้ามประเภทใดบ้างสำหรับนักกีฬา เช่นยาบางตัว กัญชา แม้ประเทศไทยจะยอมรับให้ใช้ได้ แต่ถูกระบุไว้ในสารต้องห้าม เพราะฉะนั้นการใช้สารเหล่านี้ในชีวิตประจำวันจึงต้องระวัง ที่ผ่านมาเราเคยตรวจเจอกัญชาในนักกีฬา เราไม่สามารถระบุประเทศได้ เพราะส่งตัวอย่างมาจากหลากหลายประเทศ และไม่สามารถทราบวิธีการว่าใช้ในรูปแบบไหน เพราะใช้วิธีตรวจปัสสาวะและเลือด” รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา แชร์ข้อมูล

โด๊ปแบบใหม่ถ่ายเลือดเพิ่มออกซิเจน

วิธีการตรวจหาสารโด๊ปในนักกีฬาจะใช้วิธีสุ่มตรวจ โดยคณะกรรมการการแข่งขัน จะทำหน้าที่เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะ ส่งเข้ามาที่ศูนย์ฯ

แน่นอนเงินรางวัลจำนวนมากและชื่อเสียงเป็นสิ่งที่นักกีฬาหรือโค้ชเองยอมเสี่ยง เพราะในการแข่งขันในแมตช์ใหญ่ในระดับโลกแต่ละครั้ง สถิติที่ตรวจเจอสารกระตุ้นในนักกีฬามีประมาณ 1% ซึ่งรูปแบบทำงานศูนย์โด๊ปทั่วโลก 30 แห่งแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน มีการอัปเดตว่านักกีฬาใช้สารกระตุ้นอะไรไป และถ่ายทอดข้อมูลวิธีการจับตรวจ

ดร.สิริพงษ์ ระบุว่า การทำงานของศูนย์ต้องพัฒนาตลอดเวลา เพราะมีสารกระตุ้นใหม่ ๆ เกิดขึ้น เมื่อก่อนตรวจเจอนักกีฬาใช้สารสังเคราะห์เข้าร่างกาย ประเภทสารเคมี ส่วนใหญ่จะเป็นยา เช่นยาที่ทำให้เกิดการขยายหลอดลม จะทำให้เพิ่มสมรรถภาพของร่างกายหรือเป็นสารเพิ่มเม็ดเลือด ทำให้เรามีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น แต่ตอนนี้เริ่มพบว่านักกีฬาใช้เลือดของตัวเอง เช่นมีการถ่ายเลือดออกแล้วมีการใส่เลือดที่ถ่ายออกไปกลับเข้ามา เพราะฉะนั้นร่างกายจะมีปริมาณเม็ดเลือดที่สูงกว่าปกติ ซึ่งเท่ากับว่ามีตัวช่วย ถ้าดูเผิน ๆ จะดูไม่ออกเพราะเป็นเลือดของตัวนักกีฬาเอง แต่วิธีการนี้คือการ “โด๊ป”

อนาคตวิธีการแบบนี้จะต้องรับมืออย่างไร เพื่อจะตามวิธีการใหม่ ๆ จะดูว่าเมื่อเติมเลือดกลับไปแล้วจะมีอะไรแตกต่างจากคนทั่วไปปกติบ้าง จะดูการสลายตัวของเม็ดเลือด เพราะเอาเม็ดเลือดออกจากตัวแล้วเก็บไว้ระยะหนึ่ง จะมีสลายตัวเกิดขึ้น เมื่อใส่กลับเข้ามาการสลายตัวไม่เป็นปกติ เบื้องต้นดูจากปัจจัยตรงนี้ได้ แต่ต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติม ขณะนี้มีการเจอนักกีฬาใช้วิธีการนี้แล้ว

จับตาเติมยีนสร้างกล้ามเนื้อช่วยเรื่องสมาธิ

นอกจากการถ่ายเลือดเพื่อเพิ่มออกซิเจนแล้วบรรดานักวิทยาศาสตร์นักวิจัยจากศูนย์โด๊ปทั่วโลก กำลังเฝ้าระวังเรื่อง “เติมยีนในร่างกาย” เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อซึ่งมีผลทำให้ร่างกายดูดซับของออกซิเจนได้มากขึ้น สามารถอดทนต่อความเหนื่อยล้าได้

ดร.สิริพงษ์ ระบุว่าการเติมยีนมีผลต่อเรื่องของสมาธิเช่นกัน ทำให้สมาธิดี เพราะการแข่งกีฬาไม่ได้ใช้กล้ามเนื้ออย่างเดียว เช่นการ “ยิงธนู” ทำอย่างไรไม่ให้ตื่นเต้น เป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง ในเรื่องของการสร้างสมาธิที่ผ่านมาศูนย์โด๊ปพบว่ามีการใช้ยา เพื่อให้เกิดความสงบ ยอมรับว่าหากมีการใช้ยีนจะเป็นการตรวจสอบที่ยากมาก

ศักยภาพของ “ศูนย์โด๊ป” ขณะนี้มีความสามารถตรวจสอบสารต้องห้ามได้จำนวน 3,000 ตัวอย่าง ในอนาคตตั้งเป้าเป็น 10,000 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามประเทศไหนที่มีศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาในระดับสากล จะเป็นเงื่อนไข
สำคัญของการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก.

พรประไพ เสือเขียว