ทั้งนี้ ในไทยนั้นในอดีต “สวนดอกไม้ท่องเที่ยว” มักจะไม่ใช่สวนของบุคคล โดยมักจะเป็นของหน่วยงาน หรือถ้าเป็นของบุคคลก็จะเป็นภาคเอกชนรายใหญ่ ๆ แต่หลัง ๆ มานี้…

“เกษตรกร” ก็ “ทำสวนท่องเที่ยว”

และวันนี้ ณ ที่นี้ก็ “มีกรณีศึกษา”

ทั้งนี้… “สวนแบงค์เบญจมาศ Flower Cafe” นี่เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมานำเสนอ ซึ่งทาง จักรพันธ์ วังคีรี ได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า… ทำสวนดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยวมา 4 ปีแล้ว โดยที่สวนจะมีดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ ปลูกสลับผลัดเปลี่ยน นอกจากนั้นยังเปิดคาเฟ่ และร้านอาหาร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมดอกไม้-ถ่ายรูป

ทางเจ้าของสวนเล่าย้อนความเป็นมาการทำ “สวนดอกไม้ท่องเที่ยว” ว่า… ครอบครัวทำอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกดอกไม้อยู่แต่เดิม ปลูกพวกดอกเบญจมาศ ดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นการปลูกตัดดอกขาย และจากการที่ตนได้ไปเรียนทางด้านการส่งเสริมการเกษตรที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ช่วงที่เรียนก็มีโอกาสไปตามแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสวนดอกไม้ หลังจากเรียนจบกลับบ้านเกิดที่ จ.อุดรธานี ก็เลยมีแนวคิดที่จะทำสวนดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยวบ้าง แต่ครอบครัวไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจว่าปลูกดอกไม้ให้คนมาเที่ยวจะมีใครมา “ใครจะมาเสียเงินเพื่อดูดอกไม้เฉย ๆ”…การทำสวนเป็นที่ท่องเที่ยวจึงยังไม่เกิดขึ้น

จนมาในช่วงที่เกิดปัญหาดอกไม้ราคาตกต่ำ มีการชะลอการตัดดอกไม้ขาย พื้นที่ปลูกดอกไม้ของทางครอบครัวที่เช่าเขาปลูกมีดอกไม้ที่ยังไม่ได้ตัดขายบานสะพรั่งเต็มแปลง ก็มีนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปผ่านมาเห็น และแวะถ่ายรูป ซึ่งหลายคนก็ได้แนะนำให้เก็บเงินสำหรับคนที่ลงมาถ่ายรูปกับดอกไม้ในแปลงปลูก ก็เลยตัดสินใจเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวที่จะถ่ายรูป

แต่พอเริ่มเก็บเงินปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มเกิดเนื่องจากเราไม่ได้มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรรูปแบบนี้มาก่อน ทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องที่จอดรถ ห้องน้ำ ที่ไม่มีความพร้อมไว้บริการให้กับนักท่องเที่ยว ก็ถูกคอมเพลน ทำให้เราต้องมาศึกษาการทำธุรกิจการปลูกดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยวแบบจริงจัง” …จักรพันธ์ เล่า

ใช่เลย… ศึกษาเพื่อสร้างความพร้อมเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเมื่อจักรพันธ์ศึกษาก็ยังทำให้รู้ด้วยว่าการทำธุรกิจนี้ ต้องมีกลยุทธ์ในการดึงดูดมัดใจนักท่องเที่ยว ต้องมีกลยุทธ์หลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต้องมีที่จอดรถที่เพียงพอ มีห้องน้ำไว้รองรับ มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซึ่งทางสวนนี้ก็เริ่มทำอย่างจริงจังด้วย โดยได้ทุนสนับสนุนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใช้ปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด 60 ไร่ จัดทำส่วนรองรับต่าง ๆ และมีพื้นที่ปลูกดอกไม้ประมาณ 40 ไร่

“สวนดอกไม้ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวถ่ายรูป หากปลูกดอกไม้ขายอยู่แล้ว ก็สามารถต่อยอดทำธุรกิจโดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้าไปเที่ยวชม ถ่ายรูป แต่ที่สำคัญคือต้องมีการจัดพื้นที่ ตกแต่งให้กลายเป็นมุมถ่ายรูปสวย ๆ” …เจ้าของ “สวนดอกไม้ท่องเที่ยว” รายนี้แนะนำ พร้อมบอกว่า… “การปลูกดอกไม้ในแปลงปลูกที่จะใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวก็อาจเป็นอีกปัญหา เพราะดอกไม้จะมีการเหี่ยวเฉาในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะปลูกให้บานพร้อมกันหมดทั้งพื้นที่เลยก็ได้ แต่เมื่อดอกไม้โรยก็จะโรยพร้อมกัน ก็จะมีเวลารับนักท่องเที่ยวได้แค่ประมาณ 1 เดือน จึงต้องจัดสรรจัดแปลงปลูก ต้องปลูกแต่ละแปลงให้มีระยะการบานห่างกัน เพื่อจะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้นานขึ้น”

เจ้าของ “สวนแบงค์เบญจมาศ” ระบุต่อไปว่า… ดอกไม้ที่เลือกปลูกที่สวนนี้จะสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ละปีจะไม่ให้เหมือนกัน จะสับเปลี่ยนหมุนเวียน ไม่ปลูกดอกไม้ซ้ำ ๆ ซึ่งก็จะต้องดูตามกระแสด้วยว่าดอกไม้ชนิดใดเป็นที่นิยมด้านท่องเที่ยว และ ที่สำคัญอันดับแรก…ต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย โดย จักรพันธ์ บอกย้ำว่า… แปลงดอกไม้ที่ปลูกให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชม ถ่ายรูป เรื่องความปลอดภัยจะต้องมาเป็นอันดับแรก ซึ่งสวนดอกไม้ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวนั้น “จะต้องไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลง!!” แม้ว่าดอกไม้ในสวนอาจจะมีหนอนมีแมลงบ้าง…แต่ก็จะปลอดภัยกับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ทาง “กรณีศึกษา” รายนี้ยังเสริมข้อมูลต่อไปว่า… “ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ก็ต้องสร้างมาตรฐาน-คุณภาพให้ดีเช่นกัน” ซึ่งที่สวนนี้ตอนแรก ๆ ช่วงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ด้วยความที่ยังอ่อนประสบการณ์ก็เกิดปัญหาในการรองรับ เช่น อาหารเสิร์ฟไม่ทัน อาหารล่าช้า อีกทั้งเรื่องของรสชาติเครื่องดื่ม กาแฟ ที่จะต้องคงที่ จุดนี้ก็ต้องระวัง ต้องบริหารจัดการให้ดี

นอกจากนี้ ที่สวนก็จะมีช่างภาพอาชีพไว้ให้ลูกค้าสามารถใช้บริการถ่ายภาพด้วย ซึ่งทางสวนอาจจะไม่ได้ผลประโยชน์เป็นเรื่องตัวเงิน แต่ภาพถ่ายโดยช่างภาพอาชีพจะกลายเป็นการโฆษณาชั้นดีให้สวนดอกไม้ได้ เพราะถ้าลูกค้าได้ภาพสวย ๆ ไปโพสต์ลงโซเชียลเยอะ ๆ คนอื่น ๆ ที่เห็นก็อยากจะลองมาเที่ยวบ้าง” …นี่ก็อีกคำแนะนำ

และทิ้งท้าย จักรพันธ์ วังคีรี เจ้าของ “สวนแบงค์เบญจมาศ” ยังบอกเชิงแนะนำด้วยว่า… ทางสวนจะเน้นเปิดรับนักท่องเที่ยวช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค. พอเข้าฤดูร้อน ช่วงที่ไม่ได้ทำสวนดอกไม้เพื่อการท่องเที่ยว ก็จะหารายได้จากทางอื่น เช่น เน้นปลูกดาวเรืองตัดดอกขาย ปลูกพืชผักสวนครัว พวกมะเขือ ต้นหอม ผักชี เพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ …ซึ่งนี่ก็กลยุทธ์ “กรณีศึกษา”

กรณี “ทำสวนดอกไม้รับนักท่องเที่ยว”

ที่ยุคนี้ “ในไทยก็มีเหมือนเมืองนอก”

และ “เกษตรกรไทยก็สามารถทำได้”.