ซึ่งหลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผยก็มีกระแสวิจารณ์ดังอื้ออึง เพราะหลายคนมองเป็นการ… “ละเมิดสิทธิเจริญพันธุ์” ขณะที่หน่วยงานของญี่ปุ่นได้ให้เหตุผลของแนวคิดนี้ว่าเป็นเพราะ… “ระบบสวัสดิการไม่เพียงพอต่อการรองรับแรงงานต่างชาติ” …นี่เป็น “ต่างฝ่าย-ต่างมุม” ของเหตุผล…

เกิดกระแสถกเถียงไม่เฉพาะที่ญี่ปุ่น

นี่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาหลายประเทศ

กรณี…“ให้แรงงานต่างชาติคุมกำเนิด”

ทั้งนี้ กระแสถกเถียงที่เกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานด้านแรงงานของญี่ปุ่น “ขอความร่วมมือ” ให้แรงงานต่างชาติหญิงจากประเทศต่าง ๆ “คุมกำเนิดก่อนทำงาน” นั้น กรณีนี้กำลังเป็นกระแสร้อนแรงไม่เฉพาะแค่ในประเทศญี่ปุ่นเอง แต่รวมไปถึงในประเทศต่าง ๆ ที่อาจจะมีโครงการความร่วมมือในการส่งแรงงานหญิงไปฝึกงาน-ฝึกอาชีพในประเทศญี่ปุ่นด้วย ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ใช่กรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานหญิงของประเทศไทย แต่นี่ก็ถือว่าเป็น “กรณีศึกษา” ที่ไทยน่าพิจารณาไว้เช่นกัน ทั้งกับ…

“แรงงานหญิงไทยในต่างประเทศ”

และ “แรงงานหญิงต่างชาติในไทย”

กับเรื่องนี้กรณีนี้…ก็มี “เสียงสะท้อน” มีการวิเคราะห์น่าสนใจจาก จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ได้สะท้อนกรณีที่กำลังเป็นกระแสถกเถียงผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ประเด็นเกี่ยวกับการที่ทางประเทศญี่ปุ่นได้มีการออกคู่มือ-ให้คำแนะนำ “กลุ่มแรงงานต่างชาติผู้หญิง” โดยระบุว่า… “ควรคุมกำเนิดก่อนเข้าไปทำงาน” นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก เนื่องจากตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น การตั้งครรภ์ หรือ “สิทธิในการมีลูก” ถือเป็น สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงทุกคน อีกทั้ง “สิทธิอนามัยวัยเจริญพันธุ์” นั้น…

จะยังไงก็ไม่สามารถที่จะกำหนดค่าได้

นี่เป็น “มุมมองผู้สันทัดกรณีสิทธิสตรี”

ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังได้ฉายภาพกรณีในลักษณะคล้าย ๆ กันกับของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเกิดขึ้นในเมืองไทย ย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้านี้ โดยบอกว่า… ปัญหาของแรงงานต่างชาติหญิง หรือแม้แต่แรงงานหญิงที่เป็นคนไทยก็ตาม ที่มักจะต้องเผชิญก็คือ เมื่อแรงงานหญิงตั้งท้อง ตั้งครรภ์ นายจ้างบางคนมักจะสั่งให้หยุดทำงาน หรือเลิกจ้างทันที หรืออีกกรณีที่นายจ้างบางคนอาจกลัวเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย หรือไม่อยากจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง นายจ้างมักจะเลือกใช้วิธีกดดัน กลั่นแกล้ง เพื่อให้แรงงานหญิงที่ตั้งท้องกดดันจนต้องลาออก ไปด้วยตัวเอง…

เพื่อจะ “เลี่ยงความผิดทางกฎหมาย”

รวมถึง “ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง”

“ความกลัวจะถูกเลิกจ้างจากกรณีนี้ ทำให้ผู้หญิงหลายคนถึงขั้นต้องใช้ผ้ารัดหน้าท้อง เพื่อทำให้เห็นว่าตัวเองไม่ได้ตั้งท้อง เพื่อที่จะได้รับการจ้างงานต่อ ไม่ถูกเลิกจ้าง หรือซ้ำร้ายบางคนถึงขั้นไปทำแท้ง จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพผู้หญิง กับปัญหาอื่น ๆ ตามมาเต็มไปหมด” …เป็นเรื่องน่าตกใจที่ ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สะท้อนข้อมูลไว้

แรงงานหญิงกลัวต้องตกงานเพราะท้อง

ส่งผลให้ยอมเสี่ยงสุขภาพ-สวัสดิภาพ!!

ทั้งนี้ ทาง จะเด็จ ย้ำว่า… จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นที่มาในการ ออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิการตั้งครรภ์ของผู้หญิง ที่ถือเป็นหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทุกประเทศจะต้องปฏิบัติตาม โดย การห้ามท้อง…ทำไม่ได้!! ถึงจะเป็นแค่การให้คำแนะนำ…ก็ทำไม่ได้เช่นกัน!! เพราะก่อให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจต่อแรงงานผู้หญิง โดย ผอ. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังกล่าวกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” อีกว่า… เรื่องนี้มีผลกระทบค่อนข้างเยอะ จึงไม่ควรมีกฎหรือคำแนะนำแบบนี้ แต่ควรคิดในมุมความเป็นมนุษย์ว่า…การมีแรงงานต่างชาติทำงานให้เป็นสิ่งที่ดี ต้องคุ้มครองคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องมานั่งวิตกกังวล ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งท้อง…

ไม่ต้องกลัวถูกนายจ้างไล่ออก…

“ห้ามท้อง…การทำเช่นนี้จะได้ผลลัพธ์ที่แย่มากกว่าดี อีกอย่างคือ…หากไม่คุ้มครองผู้หญิงกรณีนี้ แล้วโอกาสที่จะเกิดทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพจะไม่ยิ่งลดน้อยลงไปอีกหรือ ยิ่งตอนนี้อัตราการเกิดก็ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ มันก็ยิ่งแย่ ซึ่งถ้าอยากได้ทรัพยากรมนุษย์ที่ดี ก็ต้องคุ้มครองเรื่องนี้ให้ได้มาตรฐานสากล” …ทาง จะเด็จ เชาวน์วิไล ระบุไว้

“ห้ามแรงงานหญิงท้อง” อื้ออึงข้ามชาติ

กับเรื่องแบบนี้ “ในเมืองไทยก็เคยมี”

และไม่แน่ “ตอนนี้ก็อาจยังมีอยู่??”.