เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท. ได้จัดงานสัมมนา “โครงการการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการศูนย์กระจายสินค้า อาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ (ท่าเรือคลองเตย)” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อศึกษา และวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการตลาด ที่จะส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ ให้สอดรับกับแผนพัฒนาพื้นที่ของ กทท. เพื่อให้ท่าเรือกรุงเทพสามารถรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมการค้า-การลงทุนของประเทศ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคต เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของการท่าเรือในการทำให้ กทท. เป็นประตูหลักของการค้าและการขนส่งในภูมิภาคด้วยมาตรฐานการให้บริการในระดับโลก (World Class Port) โดยมีนโยบายการนำแนวคิด 3T ได้แก่ การถ่ายลำ (Transshipment), การผ่านแดน (Transit)  และการจราจรติดขัด (Traffic) และ 2D ได้แก่ การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (Digitization) และ การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Decarbonization) เข้ามาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้า หรือ DC (Distribution Center) เป็น 1 ใน 3 โครงการพัฒนาหลักของท่าเรือกรุงเทพ ที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับท่าเรือกรุงเทพ อีกทั้งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อ GDP ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม คือ 1.โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือแบบ Smart Port ที่นำเอาระบบอัตโนมัติมาใช้ในการบริหารจัดการ 2.โครงการเชื่อมต่อทางพิเศษ S1 (อาจณรงค์-บางนา) ในการแก้ไขปัญหาการจราจร และ 3.โครงการศูนย์กระจายสินค้าท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Distribution Center) 

ซึ่งภายใต้โครงการนี้ จะประกอบด้วยแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเขตรั้วศุลกากร 138 ไร่ (220,800 ตร.ม.) เป็นอาคารทรงสูง (Multilevel Warehouse) เพื่อรองรับปริมาณสินค้า/ตู้สินค้า LCL/CFS และกิจกรรมของท่าเรือกรุงเทพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เขตปลอดอากร (Free Zone), คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Warehouse), คลังสินค้าออนไลน์ (E-Commerce Fulfillment Center), การจัดส่งขั้นสุดท้าย (Last-Mile Delivery), การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (Value Added Services), การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce) เป็นต้น และพัฒนากิจกรรมท่าเรือสมัยใหม่ (New Business Venture) เพื่อรองรับพลวัตการเติบโตและขยายตัวของเมือง โดยในโครงการ ประกอบด้วย กิจกรรมการให้บริการต่างๆ เช่น คลังสินค้าทรงสูง ศูนย์เปลี่ยนถ่ายและขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พื้นที่บริหารจัดการรถบรรทุก (Truck Terminal) และอาคาร One Stop Services (OSS) เป็นต้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต.