ทั้งนี้ จากปัจจัยการเคลื่อนย้ายของผู้คน และเมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนรุนแรงทางสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โลกร้อน-โลกเดือด” ก็ยิ่งน่ากังวลโรคไร้พรมแดน “ยิ่งน่ากลัว” โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ทั้ง “โรคอุบัติซ้ำ” “โรคอุบัติใหม่” และ “โรคจากต่างแดนซึ่งก็ถือเป็น “ความท้าทายสำคัญทั่วทุกมุมโลก” ขณะที่ในประเทศไทย-คนไทยก็อาจต้องเผชิญ “โรคที่ทำให้ตะลึง!!” อีกมาก!!

ทั้งนี้ โลกในยุคนี้นอกจากจะ “ต้องเฝ้าระวังเข้มงวด” เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่ยังเกิดขึ้นมากในปัจจุบัน และโรคที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตแล้ว ก็ยัง “ต้องใส่ใจ-ให้ความสำคัญ” เกี่ยวกับ “โรคที่ถูกลืม” ด้วย เพราะมีการคาดการณ์ว่าในยุคไร้พรมแดนก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่หลาย ๆ พื้นที่ของโลกจะเกิดปัญหาได้ โดยทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มีการกำหนด “วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย” หรือ “World NTD Day” วันที่ 30 ม.ค. ที่ปีนี้เพิ่งจะผ่านไปหมาด ๆซึ่งการกำหนดวันดังกล่าวนี้ก็เพื่อให้ทั่วโลกหันมาใส่ใจโรคกลุ่มนี้ โดยไทยเป็นประเทศเขตร้อน ก็ยึดโยงกับโรคกลุ่มนี้ โดยที่ไทยก็…

ต้องให้ความสำคัญกับการ “ควบคุม”

“เป้าหมาย” ต้อง “รวมโรคที่ถูกละเลย”

เพราะว่า “มันยังไม่ได้หายไปจากโลก”

และเพื่อเป็นการร่วมสร้างการตระหนักรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคที่ถูกลืม” หรือ “โรคที่ถูกละเลย” ต่อเนื่องจากวัน World NTD Day ตามที่องค์การอนามัยโลกได้มีการประกาศกำหนดไว้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคเขตร้อน” ที่บางชนิดนั้นก็เป็นโรคที่ชื่อคุ้นหู ขณะที่บางชนิดก็ชื่อไม่ค่อยคุ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ โดยอ้างอิงจากชุดข้อมูล “คู่มือโรคเขตร้อน ฉบับประชาชน” ที่จัดทำโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อรณรงค์และสร้างความตระหนักถึงโรคเขตร้อน ที่คุกคามสุขภาพ รวมถึงยังส่งผลกระทบสืบเนื่องนอกเหนือจากเรื่องสุขภาพด้วย…

ด้านหนึ่งโรคเหล่านี้คุกคามสุขภาพ

ในอีกด้านส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคม

เกี่ยวกับ “โรคเขตร้อน” โรคที่มักจะถูกระบุให้เป็น “โรคที่ถูกละเลย” หรือ “โรคที่ถูกลืม” นั้น…ในคู่มือโรคเขตร้อน ฉบับประชาชนนั้น ในชุดข้อมูลเผยแพร่ดังกล่าวได้มีการแจกแจงเอาไว้ ดังต่อไปนี้คือ… โรคเขตร้อน หมายถึง โรคที่พบในพื้นที่ที่เป็นเขตร้อน แต่ถ้าหากไล่ดูโรคต่าง ๆ ที่เรารู้จักแล้ว ก็เกือบไม่มีโรคอะไรที่ไม่พบในเขตร้อนเลย ดังนั้น เพื่อให้โรคเขตร้อนแยกจากโรคทั่วไป จึงมีผู้ให้นิยาม “โรคเขตร้อน” ว่า…หมายถึง “โรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่เขตร้อน แต่ไม่ค่อยพบในพื้นที่อื่น”

ขณะที่นิยามของคำว่า “พื้นที่เขตร้อน” นั้น ในคู่มือดังกล่าวได้มีการอธิบายไว้ว่า…หมายถึง ประเทศที่มีพื้นที่อยู่ในบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ระหว่างเส้นรุ้งที่ 23.5 องศาเหนือ กับเส้นรุ้งที่ 23.5 องศาใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา เอเชียตอนใต้ อเมริกากลาง และยุโรปตอนใต้ ซึ่งพื้นที่ของเขตร้อนนั้น ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของแผ่นดินทั้งหมดของโลกโดยในพื้นที่เขตร้อนนี้ มีประชากรอยู่อาศัยรวมกันมากกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลก

นี่เป็นการอธิบายคำว่า “โรคเขตร้อน”

และรวมถึงคำว่า “พื้นที่เขตร้อน” ด้วย

ส่วน “โรคเขตร้อนที่พบบ่อยในไทย” นั้น ข้อมูลโดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุไว้ว่า… มีประมาณ 25 ชนิด ได้แก่… โรคเห็บ, โรคเหา, โรคหิด, โรคไข้สมองอักเสบเจอี, โรคฉี่หนู, โรคปอดบวม, โรคพิษสุนัขบ้า, โรคไข้เลือดออก, โรคไข้ไรอ่อน, โรคไข้ดิน, โรคชิคุนกุนยา, โรคไข้หวัดใหญ่, โรคพยาธิปากขอ, โรควัณโรค, โรคพยาธิหอยโข่ง, โรคพยาธิเข็มหมุด, โรคพยาธิใบไม้ตับ, โรคหนอนพยาธิ, โรคพยาธิตัวจี๊ด, โรคพยาธิตัวตืด, โรคพยาธิตัวบวม, โรคมาลาเรีย, โรคหน่อไม้ปี๊บ, โรคอะมีบากินสมอง, โรคอุจจาระร่วง …ซึ่ง “หลายโรค…ร้ายรุนแรง”

ใน “คู่มือโรคเขตร้อน” เล่มเดิม ยังได้มีการเน้นย้ำถึงการสร้างความตระหนักรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกลุ่มดังกล่าว โดยระบุไว้ว่า… ประเทศเขตร้อนส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่ยากจน หรือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และมักจะมีระบบสาธารณสุข-การแพทย์รองรับได้ไม่ดีมากนัก ทำให้ โรคเขตร้อนที่สำคัญมักจะเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อ และโรคที่มาจากความยากจน จึงส่งผลทำให้โรคเขตร้อนหลาย ๆ ชนิดยังคงเกิดการแพร่ระบาดได้อยู่

ทั้งนี้ โฟกัสที่ ประเทศไทย เรา… แม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ก็มีระบบการแพทย์และสาธารณสุขในระดับที่ดี เหตุนี้จึงทำให้โรคเขตร้อนหลาย ๆ ชนิดที่เคยเป็นปัญหาสงบลงไป อย่างไรก็ตาม แต่ปัจจุบันพบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ทำให้โรคที่เคยสงบไปแล้วกลับมาระบาดใหม่ รวมถึงมีโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น การที่คนไทย มีความรู้-มีข้อมูล…จึงมีความสำคัญ …นี่เป็นอีกส่วนสำคัญที่มีการระบุไว้ในคู่มือดังกล่าว ที่เน้นให้คนไทยให้ความสำคัญกับ “โรคเขตร้อน”

คนไทยก็ “อย่าประมาทโรคเขตร้อน”

“ระวัง” ให้ดี “โรคที่ถูกลืม-ถูกละเลย”

“โรคไร้พรมแดน” เสี่ยง “รีเทิร์นดุ!!”.