แมลง สิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารสร้างสมดุลธรรมชาติ มีบทบาทช่วยผสมเกสรดอกไม้สร้างอาหาร อีกทั้งแมลงปีกสวย “ผีเสื้อ” ยังให้ความสดใส สร้างความสุขยามพบเห็น ทั้งเป็นสะพานเชื่อมการเรียนรู้ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้โดยง่าย ทั้งนี้นำเรื่องน่ารู้ พาตามรอยแมลง “ผีเสื้อกลางคืน” อีกความงามในธรรมชาติ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดย ทัศนัย จีนทอง นักวิชาการชำนาญการ กองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ให้ความรู้ว่า ผีเสื้อที่พบเห็นโดยทั่วไปแบ่งเป็น ผีเสื้อกลางวัน และผีเสื้อกลางคืน และในจำนวนที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนั้นส่วนใหญ่เป็นผีเสื้อกลางคืน

“ผีเสื้อส่วนใหญ่ที่รู้จักเป็นผีเสื้อกลางวัน ทั้งนี้เพราะด้วยที่มีสีสันสะดุดตา สวยงาม อีกทั้งมีโอกาสพบเห็นผีเสื้อได้ง่ายเพราะเป็นช่วงเวลากลางวัน กลุ่มผีเสื้อกลางวันจึงเป็นที่รู้จักและได้รับการศึกษากว้างขวางกว่ากลุ่มผีเสื้อกลางคืน

ผีเสื้อจัดอยู่ในกลุ่มแมลง โดยกลุ่มแมลงจะมีเครือญาติที่ต่างกันไป ผีเสื้อเป็นแมลงที่มีปีกสวย และที่เห็น สีสันสวยบนปีกผีเสื้อ เกิดจากเกล็ดขนาดเล็กเรียงซ้อนกัน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแมลงกลุ่มผีเสื้อ”

 เกล็ดจะมีสองแบบคือ เกล็ดที่มีเม็ดสี และไม่มีเม็ดสีแต่ทำให้เกิดสีสันที่มองเห็นได้ นักวิชาการชำนาญการกองวิชาการสัตววิทยา คุณทัศนัย อธิบายอีกว่า จากที่กล่าวส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักผีเสื้อกลางวันก็เพราะพบเจอได้ง่ายในช่วงกลางวัน ขณะที่ผีเสื้อกลางคืนมักเข้าใจว่าพบเจอหรือผีเสื้อออกหากินในเวลากลางคืน

แต่จริง ๆ แล้วผีเสื้อกลางวัน ไม่ได้ออกหากินในช่วงกลางวันทั้งหมด จะมีบางกลุ่มที่ออกมาช่วงเวลาโพล้เพล้เช้ามืด หรือตอนคํ่า ๆ เย็น ๆ ก็พบเจอได้ อย่างเช่น กลุ่มผีเสื้อป่า ผีเสื้อดาราไพร ฯลฯ จะบินออกมาให้เห็นโชว์ตัวช่วงพลบคํ่า ยามเย็น ขณะที่ผีเสื้อกลางคืนบางกลุ่ม ไม่ได้ออกมาเฉพาะช่วงเวลากลางคืน จะบินออกมาเฉพาะช่วงกลางวันก็มี

การจำแนกผีเสื้อ ส่วนใหญ่นักกีฏวิทยา หรือนักวิทยาศาสตร์จะใช้ลักษณะทางสรีระ อวัยวะของแมลงที่เหมือนกัน คล้ายกันหรือใกล้เคียงกัน จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน มากกว่าพฤติกรรมหรือสีสันของผีเสื้อ โดยหลัก ๆ ที่ใช้จัดแบ่งกลุ่มผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อกลางคืนคือ หนวด รองลงมาเป็น ลวดลาย หรือเส้นปีก ที่มีความแตกต่างกัน

กลุ่มผีเสื้อกลางวัน โครงสร้างหนวดจะเรียกว่า หนวดกระบอง ลักษณะหนวดจะเป็นเส้นขึ้นมา ส่วนปลายจะขยายใหญ่ ส่วนโคนจะเรียวเล็ก ลักษณะเรียวลงคล้ายไม้เบสบอล คล้ายกระบอง ส่วน ผีเสื้อกลางคืน จะมีหนวดแบบอื่นที่ไม่ใช่หนวดกระบอง หนวดจะมีหลายแบบโดยจะแยกกันชัดเจน และสำหรับผีเสื้อในประเทศไทย ผีเสื้อกลางคืนจะมีอยู่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลาย โดยถ้าศึกษาจะพบเห็นผีเสื้อกลางคืนที่มีพฤติกรรมออกหากินกลางวันแซมอยู่ค่อนข้างมาก”

 อีกความน่าสนใจของผีเสื้อ นอกจากเป็นแมลงปีกสวย ผีเสื้อยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยระยะตัวหนอน ผีเสื้อกินใบไม้เป็นอาหาร ขณะที่ ตัวเต็มวัย อาหารหลักของผีเสื้อคือนํ้าหวาน ประโยชน์ที่ทราบกันดีเมื่อผีเสื้อกินนํ้าหวานจากดอกไม้จะมีส่วนช่วยต้นไม้ผสมเกสร ทำให้ต้นไม้สืบพันธุ์ ขยายพันธุ์แต่ถ้ามีหนอนผีเสื้อมากเกินไปก็จะเป็นศัตรูพืช ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี หรือเติบโตช้าเพราะถูกกัดกินใบ

นอกเหนือจากบทบาทดังกล่าว ผีเสื้อเองก็มีบทบาทต่อสัตว์อื่น ๆ โดยตัวของผีเสื้อเป็นอาหารให้กับสัตว์อื่น ๆ เช่นกัน อย่างในระยะตัวหนอน รวมถึงผีเสื้อตัวเต็มวัยบางกลุ่ม เป็นอาหารให้กับสัตว์ที่กินผีเสื้อ ขณะเดียวกันยังเห็นถึงการปรับตัว หนอนผีเสื้อบางชนิดจะกินอาหารที่มีพิษสะสมไว้ โดยพิษจะไม่ทำอันตรายผีเสื้อ แต่เมื่อสัตว์อื่นมากินจะไม่ชอบ รู้ว่าไม่ควรกินซึ่งก็ทำให้หนอนผีเสื้อไม่ถูกรบกวน ปลอดภัย ฯลฯ เป็นระบบห่วงโซ่อาหารเป็นกลไกความสมดุล บทบาทของผีเสื้อในระบบนิเวศหากโฟกัสที่ผีเสื้อกลางคืนที่มีอยู่
จำนวนมาก บทบาทจะชัดเจน

นักวิชาการชำนาญการ กองวิชาการสัตววิทยา คุณทัศนัย อธิบายเพิ่ม ย้อนเล่าถึงสีสันของผีเสื้ออีกว่า ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าผีเสื้อกลางคืนไม่ค่อยมีสีสัน ซึ่งผีเสื้อกลางคืนบางกลุ่มมีสีสวย อย่างเช่น ผีเสื้อกลางคืนที่ออกมาในช่วงกลางคืน โดยกลุ่มนี้จะมีขนาดเล็กมาก หากใช้กล้องส่องขยายไปที่ปีกจะเห็นลายปีก หรือเกล็ดที่ปีกมีสีสันสวยสีเกล็ดจะคล้ายกับดิ้นเงินลายสวยงาม ฯลฯ

“ผีเสื้อกลางคืนที่รู้จักกันมีหลายกลุ่ม ที่มักถูกกล่าวถึงคือ ผีเสื้อหนอนกระท้อน หรือผีเสื้อยักษ์ โดยนับตั้งแต่ระยะตัวหนอนผีเสื้อกระท้อนก็เป็นที่รู้จัก เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดใหญ่ ปีกใหญ่สีสันออกไปทางโทนส้ม นํ้าตาลแดง อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความสวยงาม ผีเสื้อหางยาว เป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน อยู่ในวงศ์เดียวกับผีเสื้อหนอนกระท้อน ปีกสีเหลือง ๆ เขียว ๆ นวล โดยลักษณะเด่นปีกคู่หลังมีความยาวคล้ายมีหางยื่นยาวออกมา พบในประเทศไทยมี 4 ชนิด ค่อนข้างพบเห็นยาก เป็นแมลงคุ้มครอง”

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชนิด แต่ที่มักจะพูดถึงผีเสื้อกลางคืนที่ได้รับความสนใจจะรู้จักในกลุ่มผีเสื้อขนาดใหญ่ และจากที่กล่าวผีเสื้อมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบและไม่เพียงเฉพาะแมลง ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบถึงทุกกลุ่มสิ่งมีชีวิต พืชและสัตว์

“แมลงยิ่งมีความชัดเจน โดยหากพืชได้รับผลกระทบ ผีเสื้อก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ด้วย เพราะผีเสื้อกินพืชอาหารเป็นหลัก และผีเสื้อแต่ละกลุ่มมีความเฉพาะเจาะจงกับพืชอาหาร ทั้งนี้ผีเสื้อไม่ได้กินอาหารเหมือนกันทั้งหมด และพืชอาหารก็ไม่ได้เจริญเติบโตได้ทุกที่ มีความเฉพาะตัว หากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นพืชอาหาร พื้นที่อาศัย ผลกระทบที่เกิดขึ้นยิ่งชัดเจน ทั้งมีความเสี่ยงสูญหายไป”

ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากที่มีการศึกษาในต่างประเทศ อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ผีเสื้อไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนได้ทันก็มีผลต่อการดำรงชีวิตอยู่ อาจมีการเคลื่อนที่อพยพไป หรือถ้าพื้นที่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งมีโอกาสสูญพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอด ๆ ทั้งโดยตรงและทางอ้อม เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักร่วมกันว่าควรดูแลธรรมชาติด้วยความเข้าใจ

คุณทัศนัย ให้มุมมองอีกว่า ผีเสื้อเป็นสื่อการเรียนรู้ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี การพบเห็นผีเสื้อ การได้ชื่นชมความงาม หรือการศึกษาผีเสื้อส่งต่อการเรียนรู้ต่อไปในเรื่องต่าง ๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องพันธุ์ไม้ ระบบนิเวศ นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมา ความสวยงามจากผีเสื้อยังสร้างแรงบันดาลใจ นำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะสร้างอาชีพ

ภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้มีความสำคัญต่อผีเสื้อ หรือแม้แต่ในบ้านของเราหากปลูกต้นไม้ ปลูกดอกไม้หรือปลูกต้นไม้ที่เป็นอาหารผีเสื้อไว้ นอกจากมีโอกาสได้เห็นผีเสื้อบินมาให้ชมใกล้ ๆ หรือการปลูกพืชผสมผสาน มีพืชอาหารที่มีความหลากหลายก็ช่วยให้มีผีเสื้อคงอยู่ในธรรมชาติ และนอกจากสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมพื้นที่อาศัยของผีเสื้อที่เปลี่ยนไปซึ่งส่งผลกระทบต่อผีเสื้อ การใช้แสงสว่างอย่างฟุ่มเฟือย มลภาวะทางแสง ยังส่งผลกระทบต่อแมลง ต่อผีเสื้อกลางคืน พืชและสัตว์ รวมถึงมนุษย์

ผีเสื้อแมลงแสนสวยที่มีชีวิตชีวา การศึกษาเฝ้าดูการเปลี่ยนไปของผีเสื้อในแต่ละระยะยังปลูกสร้างการเรียนรู้ปลูกความรักธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าผลกระทบภาวะโลกร้อน โลกรวนที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแมลงปีกสวย “ผีเสื้อ”

แมลงที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ มากด้วยเรื่องราวหลายแง่มุมน่าค้นหา.

ภาพโดย : ทัศนัย จีนทอง

พงษ์พรรณ บุญเลิศ