“ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสสอบถามอีกหนึ่งมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่กับปัญหาด้านเด็กและวัยรุ่น รศ.นพ.สุริยเดว  ทรีปาตี ผอ.ศูนย์คุณธรรม ร่วมสะท้อนชนวนเหตุกระทำความผิดและกลายเป็นอาชญากร โดยอ้างอิงงานวิจัยทุนชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เนื่องจากทุนชีวิตคือเครื่องมือรับฟังเสียงของเด็กว่า รู้สึกอย่างไรกับตนเอง หรือรู้สึกอย่างไรกับบ้าน ครอบครัว ชุมชน และเพื่อน เป็นเครื่องมือวัดจิตสำนึก ทั้งเป็นการวัดพลังบวกในสังคม ผ่านเสียงของเด็กและเยาวชนอายุ 12-25 ปี

จากการสำรวจกว่า 15 ปี จะเห็นได้ว่าประเทศไทยก่อนหน้านี้“ไม่มี”พื้นที่ใดเป็น“สีแดง”ต้องเฝ้าระวัง แต่ตนก็ยังไม่เคยเห็นภาพรวมในลักษณะ“สีเขียว”ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม“สีเหลือง”

แต่ปัจจุบันพื้นที่ชั้นใน และปริมณฑลความรู้สึกของเด็ก“ดิ่ง”ลงถึงขนาดที่ติดอยู่ในพื้นที่“สีแดง”หลายพื้นที่”

ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณเตือนจากอีกหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ วัดจากระดับสี“ดีมาก”คือ“สีเขียว” “ดี”คือ“สีเหลือง” หากเริ่มส่งสัญญาณเตือนจะกลายเป็น“สีส้ม” และถ้ามีปัญหาหรือมีปัญหาแล้วจะอยู่ใน“สีแดง”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้วัดออกมาได้แต่ละสี  จากการวิเคราะห์เชิงลึก วัดได้จาก 5 อย่าง คือ ตนเอง บ้าน ครอบครัว ชุมชน และเพื่อน  เห็นได้จากเหตุแก๊ง 5 ทรชนปลิดชีพ“ป้ากบ” น.ส.บัวผัน ตันสุ ในพื้นที่จ.สระแก้ว สะท้อนได้ว่าชุมชนดังกล่าวไม่มีระบบเฝ้าระวังภัยในชุมชน 

รศ.นพ.สุริยเดว  ยังจำแนกภาพของพ่อแม่ในปัจจุบันว่า 4 ลักษณะ ได้แก่ 1.ครอบครัวที่ไม่มีความรู้และทักษะในการเลี้ยงดู  2.ครอบครัวที่ปล่อยปละละเลย 3.พ่อแม่ที่เสียโอกาสในการเลี้ยงดูบุตร และ 4.พ่อแม่ที่ไม่สมควรเป็นพ่อแม่  ซึ่งข้อสุดท้ายจำเป็นที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ต้องเข้ามาดูแล

“ในส่วนนี้จำเป็นต้องไปทบทวนถึงข้อกฎหมายการคุ้มครองเด็กที่มีมาตั้งแต่ปี 46 ซึ่งผ่านมากว่า 20 ปี จำเป็นต้องให้กระทรวงทบทวนข้อกฎหมายถึงบทบาทของพ่อแม่ที่ควรจะเป็น”

นอกจากนี้ ยังสะท้อนไปถึงรัฐบาลที่ควรเป็นรัฐสวัสดิการ ปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกกำหนดลักษณะต่างๆของครอบครัวเป็นวาระระดับชาติอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น กระทรวงการศึกษาไม่ควรออกแบบแค่วิธีเรียนในระบบ แต่ควรคำนึงถึงเด็กด้อยโอกาส เพราะการศึกษาคือทางออก ไม่ให้เด็กหลงไปในเส้นทางดำมืด

พร้อมมองว่าหากไม่แก้ตั้งแต่ครอบครัว เด็ก ไปจนถึงชุมชนและการศึกษา แต่ไปเริ่มที่แก้กฎหมาย ซึ่งอายุเด็กวัยต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่วุฒิภาวะอ่อนแอ ไวต่อสิ่งเร้า จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองรับผิดชอบให้ดี เพราะวัยนี้ยังขาดวุฒิภาวะการตัดสินใจ ขณะที่เด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป หากก่อเหตุจำเป็นต้องพิจารณาคำวินิจฉัยแพทย์และสภาพแวดล้อม

“หากจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่ได้คำตอบที่ต้องการ เช่นการปล่อยปละละเลยในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ หรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัวจนเด็กเลียนแบบ และทำตาม”

ส่วนเสียงเรียกร้องการปรับลดอายุเด็กที่รับโทษ รศ.นพ.สุริยเดว ชี้ส่วนตัวไม่ได้คัดค้าน แต่จำเป็นต้องไปดูในนิยามแต่ละแม่บทกฎหมาย เพราะให้คำจำกัดความไม่เหมือนกัน พร้อมตั้งคำถามแน่ใจหรือว่ากฎหมายคือเครื่องมือสุดท้ายในการบริหารพฤติกรรมของคน

“ส่วนตัวมองว่าไม่จริง และจะทำอย่างไรให้เห็นถึงกระบวนการที่มีคุณภาพจริงหรือไม่  เช่น การนำเด็กเข้าสู่สถานพินิจฯ ที่ใช่ว่ากระบวนการดังกล่าวจะนำเด็กที่เป็นคนใหม่ออกมา”

ทั้งนี้ ฝากหน่วยงานเกี่ยวข้องไปช่วยดูสถานพินิจฯว่าใช้กระบวนการใดในการดูแล และหากมีการลดเกณฑ์อายุ ควรหรือไม่ที่ต้องแยกสถานพินิจฯในการดูแลตามช่วงอายุของเด็กด้วย  เพราะพัฒนาการด้านต่างๆของแต่ละช่วงอายุต่างกันสิ้นเชิง จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนถึงกระบวนการว่าใช่แน่หรือกับการลดแค่อายุของเด็กที่ต้องรับโทษ

“บ้านต้องเป็นสถานที่อบอุ่นและปลอดภัย ต้องร่วมทุกข์สุข พ่อแม่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี หากใจของพ่อแม่เปิดกว้าง และยอมปรับตัวเพื่อรับฟัง จะทำให้ลูกไปอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควร รวมถึงต้องรักษาบรรยากาศในบ้านด้วยวินัย เพื่อควบคุมไม่ให้ตัวลูกออกนอกลู่นอกทาง สุดท้ายควรให้เกียรติซึ่งกันและกันจะทำให้ทุกอย่างอยู่ในร่องในรอยเท่าที่ควร” รศ.นพ.สุริยเดว ฝากถึงจุดเริ่มต้นที่ต้องใส่ใจตั้งแต่ในบ้าน.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]