เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 67 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) ชุดที่ 22 ครั้งที่ 1/67 ว่าเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาสูตรที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากสูตรเก่าไม่ได้พิจารณาปรับใหม่มาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี

โดยมีกรอบเวลาในการเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว (17 คน) ภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะประชุมคณะอนุฯเพื่อพิจารณาปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรก ประมาณวันที่ 20 .. 67 และวันที่ 21 .. 67 จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ครั้งที่ 2/67

ในส่วนของการปรับค่าจ้างใหม่ว่าจะทันช่วงเดือน เม.ย.นี้หรือไม่นั้น ต้องดูผลการประชุมของคณะอนุฯออกมาก่อน แต่จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ส่วนที่ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะถึง 400 บาท/วัน หรือไม่? ขอให้คณะอนุฯประชุมก่อนจึงจะสามารถตอบได้

Free photo construction silhouette

นี่คือความเคลื่อนไหวของการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างครั้งแรกในปี 67 หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปรยกับสื่อฯในช่วงก่อนสิ้นปี 66 ว่าไม่มีความสุขอย่างแน่นอน และเชื่อว่า รมว.แรงงานก็ไม่มีความสุข เมื่อเห็นบอร์ดไตรภาคียืนยันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ระหว่าง 2-16 บาท/วัน โดยต่ำสุดปรับขึ้นจาก 328 บาท เป็น 330 บาท ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสูงสุดที่ จ.ภูเก็ต จาก 354 บาท เป็น 370 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ..67 เป็นต้นไป

นายเศรษฐายังย้ำว่าแน่นอนเรื่องดังกล่าวมีกลไกกำหนดค่าแรงอยู่ แต่ของพวกนี้เป็นเรื่องจิตใต้สำนึก เป็นเรื่องของความเหมาะสม ตอนได้เจอกับนายกฯมาเลเซียก็บอกว่าถ้าไม่สามารถยกค่าแรงขั้นต่ำขึ้นมาได้ ความเจริญเติบโตของประเทศจะต่ำมาก โดยเฉพาะประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำเมื่อ 9 ปีที่แล้ว 300 บาท วันนี้ 337 บาทขึ้นไป 12% ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา

ในทางกลับกัน หากลูก ๆ เจ้าของกิจการกลับมาจากเมืองนอก เงินเดือน 30,000 บาทเมื่อ 9 ปีที่แล้ว วันนี้ 33,700 บาทขึ้นมากว่า 10% ท่านแฮปปี้ไหม มันเป็นเรื่องใจเขาใจเรา เรื่องของไตรภาคีเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องกฎหมายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย จึงอยากให้เอาความเข้าใจซึ่งกันและกันมาพูดคุยกันในภาวะที่เดือดร้อน ที่มาทำงาน มาอยู่ตรงนี้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้น ก็ต้องทำให้ดีขึ้นในหลาย ๆ มิติ ไม่ได้มาทำแค่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว ยังต้องดูเรื่องการลงทุน การเจรจา สนธิสัญญาการค้า และต้องดูเรื่องสิทธิพื้นฐาน เพศสภาพ การประกอบอาชีพ หรือแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพเล็ก ๆ เช่น เรื่องของสภาพอากาศที่สะอาด

ระหว่างไปร่วมประชุม World Economic Forum (WEF)ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ช่วงวันที่ 15-19 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐายังบอกว่าสิ่งสำคัญที่เน้นย้ำเสมอทั้งในเวทีผู้นำและเวทีธุรกิจต่าง ๆ คือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ

โดยระบบของไทยเปรียบเสมือนปิรามิด ข้างบนไม่น่าห่วง แต่ฐานข้างล่างปิรามิดที่เป็นเหมือนฐานของประเทศ ตรงนี้นายกฯเศรษฐาให้ความสำคัญและในเวที Learning from ASEAN ได้อธิบายว่าไทยมีศักยภาพการดึงดูดนักลงทุน หลายด้านไม่ใช่เรื่องค่าแรงที่ต่ำ จึงได้พยายามแก้ปัญหาและปรับค่าแรงให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

การชักชวนนักลงทุนด้วยค่าแรงที่ต่ำ ไม่เกิดประโยชน์ต่อแรงงานไทย ศักยภาพ ทักษะต่าง ๆ ที่จะไม่ได้พัฒนาและกลายเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ที่แก้ยากยิ่งกว่า จึงได้คุยถึงปัญหาค่าแรงต่ำกับผู้นำอาเซียน ทั้งนายกฯ มาเลเซีย กัมพูชาและเวียดนาม ว่าต้องปรับเปลี่ยนแล้ว ไม่ขายนักลงทุนด้วยค่าแรงที่ต่ำ ไทยเองสามารถดึงดูดนักลงทุน นักท่องเที่ยว ด้วยศักยภาพที่หลากหลาย

ตั้งแต่ระบบอินฟราสตัคเจอร์-พลังงานสะอาด-สุขภาพ-โรงเรียนนานาชาติ-ปราศจากคอร์รัปชัน-การพัฒนาเพิ่มทักษะแรงงานสูงขึ้น และที่สำคัญรัฐบาลเร่งการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ หรือ “Ease of Doing Business” รวมไปถึงโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะยกระดับโลจิสติกส์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางในด้านการคมนาคมขนส่งสินค้า

สรุป! นายกฯเศรษฐายังค้างคาใจกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งที่แล้ว ไม่เฉพาะกับในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังชักชวนเพื่อนบ้านให้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางด้านการค้าการลงทุน เลิกขายนักลงทุนด้วยค่าแรงที่ต่ำ เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ-ทักษะของแรงงาน และที่สำคัญคือปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งแก้ยากยิ่งกว่า!!

———————-
พยัคฆ์น้อย