ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็จะชวนดูกันเกี่ยวกับการ “ปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ” ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเช่นกัน ซึ่งถ้าหากว่า “มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” ก็จะเป็นการช่วย “ลดปัญหา-ป้องกันปัญหา” ได้หลาย ๆ กรณี…

ตั้งแต่กรณี “อุบัติเหตุในที่พักอาศัย”

รวมถึง “การพึ่งตนเองได้ของผู้สูงวัย”

ที่ย่อมส่งผลดีต่อสมาชิกในครอบครัว

ย้อนดูข้อมูล ณ เดือน ก.ย. ปี 2566 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีการเผยไว้ว่า… ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวน 13,043,792 คน หรือคิดเป็น 19.74% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากตัวเลขที่ใกล้แตะเกณฑ์สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบก็ทำให้ประเด็น “ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับประชากรผู้สูงอายุ” กำลังเป็นอีกเรื่องที่ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงกันในหลาย ๆ มิติมากขึ้น เนื่องจากส่งผลยึดโยงกับโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ในหลายด้าน โดยสำหรับ “หลักออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุ” นั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีแนวทางจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ให้คำแนะนำไว้ เพื่อ…

ทำให้ “บ้าน” เป็น “สถานที่ปลอดภัย”

ที่ “ผู้สูงวัยอยู่ได้โดยมีคุณภาพชีวิตดี”

สำหรับแนวทางการ “ปรับบ้านเพื่อผู้สูงอายุ” ที่ได้มีการแนะนำไว้ โดยสังเขปมีดังนี้คือ… “เพิ่มแสงสว่าง” เพราะผู้สูงอายุจะมีอาการประสาทตาและดวงตาที่เริ่มเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้ความสามารถการมองเห็นด้อยลง ดังนั้น บริเวณบ้านจึง ควรเพิ่มแสงสว่างบริเวณที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่เป็นประจำ และบริเวณที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ด้วย อาทิ บันได ห้องน้ำ ประตู ระเบียงทางเดิน โดยการเพิ่มแสงสว่างก็ต้องเพิ่มอย่างเหมาะสม และไม่สว่างจ้าจนเกินไป เพราะจะทำให้สายตาผู้สูงอายุพร่ามัว ที่สำคัญเมื่อเพิ่มแสงสว่างแล้วต้องไม่ลืมย้ายตำแหน่งสวิตช์ไฟไว้ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุเปิดและปิดได้สะดวกด้วย

“เลือกใช้พื้นธรรมดาไม่ขัดมัน” เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม ควรเลือกปูพื้นบ้านด้วยวัสดุที่เรียบ ไม่ลื่น ไม่ขรุขระ ไม่ขัดมัน ไม่มีลวดลายหลอกตา นอกจากนั้นควรมีสัญลักษณ์แสดงชัดเจนหากเป็นพื้นที่ต่างระดับ หรือมีระดับที่ไม่สม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะเกิดการสะดุดหรือลื่นล้ม…ซึ่งที่ผ่านมาเป็นอุบัติเหตุอันดับ 1 ที่เกิดในผู้สูงอายุไทย

“ติดตั้งราวบันได” หากบันไดเดิมเป็นแบบโล่ง ๆ ไม่มีราวบันได ควรรีบติดตั้งเพื่อความปลอดภัยระหว่างการใช้งาน บันไดในทุกขั้น โดยควรมีความสูงความยาวเดียวกัน สีไม่จัดจ้าน เรียบง่าย ไม่ควรปูพรมบันไดเพราะทำให้สะดุดลื่นล้มได้

“เครื่องเรือนต้องมั่นคง” โดยควรที่จะต้อง ไม่ลื่นไถลง่าย ต้องจัดวางเป็นระเบียบ ไม่ขวางทางเดิน กับควรมีรูปแบบและความสูงพอดีกับสรีระผู้สูงอายุ เช่น เก้าอี้มีความสูงระดับวางเท้าได้พอดี เตียงนอนไม่สูงเกินไป ไม่มีเหลี่ยมมุม

“ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิด” นี่ก็ถ้าเดิมไม่ใช่แบบเลื่อนก็ควรปรับเปลี่ยนเพื่อผู้สูงอายุ และ ควรต้องมีขนาดความกว้างมากพอสำหรับการเข้า-ออกได้ 2 คน หรือกว้างพอสำหรับให้รถเข็นสามารถเข็นเข้าออกได้อย่างสะดวก

“สร้างมุมผ่อนคลาย” ก็ควรมีการทำ โดยบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าหากสามารถจัดพื้นที่ได้ ก็ควรมีการสร้างมุมที่จะสร้างความผ่อนคลายให้กับชีวิตเอาไว้ด้วย อาทิ ศาลาริมน้ำ สนามหญ้า สวนดอกไม้เล็ก ๆ หรืออาจจะเป็นมุมต่าง ๆ ภายในบ้าน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับเสริมสร้างกิจกรรมสร้างรอยยิ้ม ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย

“ห้องนอนต้องเหมาะสม” เพราะเป็นอีกห้องที่มีความสำคัญกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นห้องที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยในแต่ละวันนานที่สุด ซึ่งห้องนอนของผู้สูงอายุที่เหมาะสมจะ ต้องให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่รกรุงรัง มีแสงสว่างที่เพียงพอ และ ควรติดตั้งราวจับสำหรับพยุงตัวขณะลุกออกจากเตียงโดยเฉพาะด้วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุได้มาก และนอกจากนั้น ห้องนอนผู้สูงอายุควรมีพื้นที่อย่างน้อย 16-20 ตารางเมตร และควรเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับรถวีลแชร์ รวมถึง ควรติดตั้งปุ่มฉุกเฉินหรือโทรศัพท์ไว้ด้วย เพื่อรองรับกรณีที่อาจเกิดอุบัติเหตุ หรือใช้บอกเหตุเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน

เหล่านี้คือ “บ้านสำหรับผู้สูงอายุ”

เพื่อที่จะ “ลดอุบัติเหตุไม่คาดคิด”

และนอกจากองค์ประกอบต่าง ๆ ข้างต้น… เพื่อที่จะให้เป็น “บ้านที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ” ข้อมูลโดยกรมอนามัยยังแนะนำไว้ด้วยว่า… ส่วนที่ “ต้องให้ความสำคัญ” ก็ยังมีกรณี “ห้องน้ำต้องเหมาะสม” เพราะเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการที่ผู้สูงอายุจะเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน โดยการปรับห้องน้ำมีหลักดังนี้คือ… ต้องเป็นวัสดุกันลื่น ที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ๆ, ต้องแยกจากกันระหว่างห้องเปียกกับห้องแห้ง ป้องกันปัญหาลื่นล้ม, โถส้วมควรเป็นแบบชักโครก ที่เหมือนการนั่งเก้าอี้ พร้อม ติดตั้งอุปกรณ์พยุงตัว เวลาลุก และ ติดสัญญาณแจ้งเหตุฉุกเฉิน ใช้ขอความช่วยเหลือ…ในห้องน้ำก็ควรทำด้วย

นี่คือหลัก “ปรับบ้านเพื่อให้เหมาะสม”

ให้ “ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้โดยปลอดภัย”

“ก่อนจะปรับใจให้สูงวัยอย่างมีสุข”.