ในความพยายามไปให้ถึงสหรัฐ กลุ่มผู้อพยพจากประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้, แคริบเบียน, แอฟริกา และเอเชีย ต้องเผชิญกับพื้นที่ป่าฝนไร้กฎหมาย และแทบไม่สามารถเดินทางผ่านได้ ซึ่งพาดผ่านปานามา กับโคลอมเบีย แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ผู้นำนิการากัว ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐมาอย่างยาวนาน จงใจทำให้ผู้อพยพข้ามผ่านช่องแคบดาเรียนง่ายขึ้น ด้วยการเดินทางเข้าประเทศของเขา ก่อนที่จะมุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือทางบก

นายมานูเอล โอรอซโก ผู้สันทัดกรณีด้านการย้ายถิ่นฐาน จากองค์กร “อินเทอร์-อเมริกัน ไดอะล็อก” ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า รัฐบาลของออร์เตกา กำลังอำนวยความสะดวกธุรกิจของเครือข่ายบริการทางอากาศระหว่างประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้อพยพไปถึงพรมแดนเม็กซิโก-สหรัฐ ได้เร็วขึ้น

FRANCE 24 English

“เรารวบรวมข้อมูลจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำมากกว่า 500 เที่ยวบิน” โอรอซโก กล่าว พร้อมเสริมว่า ระหว่างเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2566 เจ้าหน้าที่สนามบินทำการว่าจ้างบริษัทเอกชนหลายแห่งในเมืองดูไบ เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ในการจัดการเอกสารระหว่างประเทศ สำหรับเที่ยวบินประเภทนี้

โอรอซโก กล่าวว่า รัฐบาลนิการากัว ได้รับผลประโยชน์จากค่าทำวีซ่า หรือบัตรนักท่องเที่ยว ขึ้นอยู่กับสัญชาติของผู้โดยสารที่เดินทางมาถึง ตลอดจนภาษีขาเข้า ซึ่งพวกเขาคิดเส้นทางการบินใหม่นี้ ในลักษณะที่ไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า เพื่อสร้างโอกาสที่ทำให้วิกฤติผู้อพยพในสหรัฐเลวร้ายกว่าเดิม และสร้างรายได้ให้กับประเทศ

อนึ่ง ผู้อพยพเดินทางจากกรุงมานากัว ไปยังฮอนดูรัส และกัวเตมาลา จากนั้นพวกเขาจะเดินทางต่อไปจนถึงเม็กซิโก และชายแดนทางใต้ของสหรัฐ โดยจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้ลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น ส่งผลให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงช่องแคบดาเรียน ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายจากป่าทึบ แม่น้ำ และสัตว์ป่า รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของแก๊งอาชญากร และการเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ

ด้านรัฐบาลปานามา เปิดเผยว่า สถิติผู้คนเดินทางผ่านป่าแห่งนี้ เมื่อปีที่แล้ว สูงกว่า 500,000 คน ซึ่งตัวเลขข้างต้นเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปีก่อนหน้า โดยคนที่กล้าเสี่ยงข้ามผ่านช่องแคบดาเรียน ส่วนใหญ่เป็นชาวเวเนซุเอลาที่หนีจากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาผู้อพยพก็มีชาวเอกวาดอร์, ชาวเฮติ, ชาวคิวบา, ชาวจีน, ชาวเวียดนาม, ชาวอัฟกานิสถาน และชาวแอฟริกันจากแคเมอรูน หรือบูร์กินาฟาโซ รวมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) ระบุว่า แนวโน้มซึ่งมีนัยสำคัญมากที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงของผู้อพยพชาวคิวบา และผู้ที่มาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งหันมาเลือกเส้นทางเที่ยวบินไปยังอเมริกากลางมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเลี่ยงช่องแคบดาเรียน และเดินทางมุ่งหน้าขึ้นไปทางเหนือ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP