รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) แจ้งว่า สำนักก่อสร้างสะพาน ดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอดพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา จำนวน 2 แห่ง งบประมาณรวม 1,222,251,000 บาท คาดแล้วเสร็จในปี 69 มีความคืบหน้าดังนี้
นายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ นายช่างโครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพ ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ จุดเริ่มต้นโครงการ กม.147+371.690-กม.148+552.690 ระยะทาง 1.181 กิโลเมตร (กม.) และอยู่บนทางหลวงหมายเลข 224 จุดเริ่มต้น กม.0+000-กม.0+100 (แยกนครราชสีมา) พื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา งบประมาณ 373,251,000 บาท
ผลงานเดือน ธ.ค. 66 ก้าวหน้า 1.875% จากแผนงาน 4.379% ช้ากว่าแผน 2.504% อยู่ระหว่างเจาะผนังอุโมงค์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมทั้งคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยช่วงระหว่างก่อสร้าง และด้านสิ่งแวดล้อม ในการชะล้างฝุ่นที่เกาะเครื่องจักร และรถบรรทุกให้สะอาดก่อนออกจากไซต์งาน ป้องกันไม่ให้มีเศษดิน วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นบนท้องถนน
นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้โครงการจัดทำแผนจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ใช้ทางในช่วงระหว่างก่อสร้าง เดิมก่อนก่อสร้างพื้นที่โครงการถนนมิตรภาพมีขนาด 6 ช่องจรจาร ทิศทางละ 3 ช่อง จากนั้นจัดจราจรและตีเส้นทางจราจรใหม่ เพื่อใช้พื้นที่ตรงกลางถนนขนาด 12 เมตร สำหรับก่อสร้าง และยังคงถนนมิตรภาพให้มี 6 ช่อง ทิศทางละ 3 ช่องเหมือนเดิม เพื่อให้ผู้ใช้ทางไม่กระทบปัญหาด้านการจราจร ยังคงใช้ช่องจราจรได้เท่าเดิม
โครงการเริ่มต้นสัญญาวันที่ 30 ส.ค. 66 สิ้นสุดสัญญา 15 เม.ย. 69 โดยมี บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 960 วัน รูปแบบจะก่อสร้างอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 2 ช่องจราจร เดินรถทิศทางเดียว กว้าง 9.10 เมตร ยาว 929 เมตร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 3.25 เมตร รองรับรถที่เดินทางมาตามถนนมิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น เข้าใช้อุโมงค์ทางแยกนครราชสีมาเลี้ยวขวาทิศทางมุ่งหน้าไป จ.สระบุรี และกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องติดสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้มีระบบระบายน้ำ งานป้องกันอัคคีภัย งานก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง งานป้ายจราจรและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย
รายงานข่าวจากสำนักก่อสร้างสะพาน แจ้งว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดถนนมิตรภาพ ตัดถนนช้างเผือกและถนนสิริราชธานี (แยกประโดก) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตั้งอยู่บนถนนมิตรภาพ ตอนนครราชสีมา-ดอนหวาย ช่วง กม.149+432.415-กม.151+182.41 ระยะทาง 1.750 กม. งบประมาณ 849,000,000 บาท ผลงานก้าวหน้า 2.997% จากแผนงาน 1.764% เร็วกว่าแผน 1.233% อยู่ระหว่างก่อสร้างงานเจาะเสาเข็ม รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในเขตพื้นที่ เช่น สายไฟฟ้าแรงสูง
นอกจากนี้ โครงการจัดแผนอำนวยความสะดวกด้านจราจรเรียบร้อย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนผู้ใช้ทางช่วงระหว่างก่อสร้างจนกว่าแล้วเสร็จใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเดิมก่อนก่อสร้างถนนมิตรภาพมี 8 ช่องจราจร ทิศทางละ 4 ช่อง จากนั้นโครงการใช้พื้นที่เกาะกลางถนน 4 ช่อง ดำเนินโครงการ ทำให้เหลือถนนแค่ 4 ช่อง จึงขยายถนนเพิ่มใหม่อีก 4 ช่อง ทำให้เส้นทางดังกล่าวยังคงผิวจราจร 8 ช่องเช่นเดิม ขณะนี้ผู้ใช้ทางทราบข้อมูลการจัดจราจรในบริเวณก่อสร้างแล้ว
โครงการเริ่มต้นสัญญาวันที่ 27 ก.ค. 66 สิ้นสุดสัญญา 10 ก.ค. 69 ระยะเวลา 1,080 วัน โดยมี บริษัท อึ้งทงกี่ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง รูปแบบเป็นทางลอดคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6 ช่องจราจร ทิศทางละ 3 ช่องจราจร ความกว้างผิวจราจรช่องละ 3.50 เมตร มีความยาว 1,075 เมตร รองรับรถถนนมิตรภาพจาก จ.ขอนแก่น มุ่งหน้าไป จ.สระบุรี และ จ.สระบุรี มุ่งหน้า จ.ขอนแก่น โดยไม่ติดสัญญาณไฟจราจร รวมทั้งงานระบบระบายน้ำ งานป้องกันอัคคีภัย และติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง
ทางลอดแห่งนี้ได้นำสถาปัตยกรรมที่สำคัญ จ.นครราชสีมา คือปราสาทหินพิมาย ซึ่งเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบ รวมทั้งนำเอกลักษณ์และวัสดุในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานออกแบบด้วย
ถนนมิตรภาพเป็นทางหลวงสายหลักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่มีปริมาณจราจรคับคั่ง โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองนครราชสีมา ที่มีทางแยกสำคัญๆ คือ แยกนครราชสีมา และแยกประโดก ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 2.5 กม. ปัจจุบันเป็นย่านชุมชน มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ในช่วงปกติมีปริมาณการจราจรอยู่ที่ประมาณ 60,000 คันต่อวัน และช่วงเทศกาลหยุดยาวอยู่ที่ 120,000 คันต่อวัน นอกจากนี้ ทั้งทางแยกทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ก่อให้เกิดปัญหาแถวคอยบริเวณทางแยก ส่งผลต่อความล่าช้าในการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งอุบัติเหตุบริเวณทางแยก เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่มีการใช้ความเร็วสูงในการสัญจร
เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเป็นอุโมงค์ทางลอด 2 แห่งแรกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ที่จะคอยช่วยแก้ปัญหาจราจรในเขตเมือง เพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของการจราจรบนทางหลวงสายหลัก ช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันประเทศยั่งยืน