จับตารถใหม่ 2567 (ตอนที่ 3) สวัสดีวันหยุด พบกับข่าวสารยานยนต์กับ อ้วนว่า แอบซิ่ง เหมือนเช่นเคยนะขอรับ ในตอนนี้ก็คือ ตอนที่ 3 ของการจับตาดู รถใหม่ที่จะเปิดตัวในบ้านเราในปี 2024 หรือ 2567 นี้ และรถของเราในวันนี้นั้น ก็มาจากค่ายจีนอีกเช่นเคย นั่นก็คือ รถจาก ค่าย GAC Aion (จีเอซี ไอออน) ผู้ผลิตที่มียอดจำหน่ายอันดับ 2 ในประเทศจีน เป็นรองเพียงแค่ BYD เท่านั้น โดยปัจจุบันนี้พวกเขามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ที่ EEC จังหวัดระยอง และตั้งเป้าจะส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากเมืองไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี ให้ได้ในปี 2025!

ค่าย GAC นี้ เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจของจีน โดยมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้ของจีน ที่เมืองกว่างโจว และได้รับความนิยมในประเทศจีนในฐานะรถที่เชื่อถือได้ ทนทาน โดยแบรนด์ GAC Aion นี้ เป็นแบรนด์ที่เน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยรถรุ่นแรกที่พวกเขานำมาเปิดตัวนั้น คือรถสไตล์อเนกประสงค์รุ่น Aion Y Plus (ไอออน วาย พลัส) ที่เป็นการโยนหินถามทาง โดยเฉพาะในเรื่องของราคาจำหน่าย เพราะพวกเขาต้องลดราคาถึง 3 รอบ จนในที่สุดพวกเขาได้พบจุดที่ ราคาตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภคแล้ว นั่นก็คือเป็นรถระดับไม่เกินล้านบาทนั่นเอง โดย Y Plus รุ่นเริ่มต้นจะมีราคา 899,000 บาท ส่วนรุ่นพรีเมียม จะมีราคา 995,900 บาท    

แต่หากจะให้อ้วนซ่า วิจารณ์ว่าทำไมคนถึงไม่ค่อยจะยอมรับรถไฟฟ้า รุ่น Y Plus นัก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากไฟหน้าที่ทรงคล้ายปีกนก ที่เตะตาจนเกินเหตุ ก็เป็นไปได้ แน่นอนว่า พวกเขาคงจะไม่คาดหวังว่า แบรนด์จะเติบโตได้ด้วยรถเพียงรุ่นเดียว ดังนั้นจึงมีโครงการจะเปิดตัว “ซีดานไฟฟ้า” ระดับราคา “หนึ่งล้านบาท” บวกลบ เน้นที่ความคุ้มค่าในการใช้งานในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ รถรุ่น S Plus (เอส พลัส) และหากเป็นไปได้เราอาจจะได้เห็นตัวล่าสุด ที่เพิ่งจะเปิดตัวในประเทศจีนอย่าง S Max (เอส แม็กซ์) ก็ได้ (โดยส่วนตัว อ้วนซ่า ชอบไฟหน้าแบบ 2 ชั้น ของ S Max มากทีเดียว)

รุ่น S Plus ถือได้ว่าเป็นซีดาน พิกัดตัวใหญ่กว่า โตโยต้า โคโรลล่า อัลติส และฮอนด้า ซีวิค ที่เป็นคู่แข่งในพิกัดราคาใกล้เคียงกัน พอสมควรโดยมีมิติตัวถัง กxยxส ที่ 4,810 x 1,880 x 1,515 มม. และมีระยะฐานล้อ 2,750 มม. (โตโยต้าโคโรลล่า อัลติส มีมิติ ตัวถังที่ 4,630 x 1,780 x 1,435 มม. และมีระยะฐานล้อ 2,700 มม. ส่วนฮอนด้า ซีวิค มีมิติ ตัวถังที่ 4,678 x 1,802 x 1,415 มม. และมีระยะฐานล้อ 2,734 มม.) ส่วนถ้าเป็นรุ่น S Max นั้น ก็จะใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย โดยมีมิติ ตัวถังอยู่ที่ 4,863 x 1,890 x 1,515 มม. และมีระยะฐานล้อ 2,760 มม.

แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่ารถไฟฟ้า รูปร่างที่เพรียวลมนั้นคือ หัวใจของความประหยัด และระยะทางการวิ่งที่เพิ่มขึ้น รถทั้งสองรุ่นนี้ ก็ทำด้านนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศที่ต่ำเพียง 0.211 ถือเป็นระดับต้นๆของรถแบบซีดานในท้องตลาดเลยทีเดียว

เป็นที่รู้กันว่า สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว ขนาดแบตเตอรี่คือ หัวใจของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมันเป็นตัวชี้วัดถึง ราคา และระยะทางวิ่งนั่นเอง รถ GAC S Plus ใช้แบตเตอรี่ความจุ 68 กิโลวัตต์ชั่วโมง จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าเดี่ยวขนาด 204 แรงม้า มีแรงบิด 350 นิวตัน-เมตร ขับเคลื่อนล้อหน้า ทำอัตราเร่ง 0-100 ระดับ 7 วินาทีกว่าๆ ได้สบาย ส่วนระยะทางวิ่งทำได้ 610 กม. ตามมาตรฐานการวัด CLTC (ในโลกความจริงน่าจะได้แตะๆ 500 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้นถ้าขับแบบ ECO+)

ส่วนรุ่น S Max นอกจากรุ่น 204 แรงม้าแล้ว ก็จะมีขุมกำลังเพิ่มขึ้นเป็น 245 แรงม้า ซึ่งแน่นอนว่าจะเร่งเร็วขึ้นเป็น 0-100 ระดับ 6.8 วินาที เรียกว่า รวดเร็วทันใจคุณพ่อบ้าน ส่วนแบตเตอรี่จะมี 2 แบบคือ แบบ LFP ความจุ 59.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง และแบบ NMC ความจุ 69.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง

เรียกได้ว่า ดูดีมีสไตล์ทั้งสองแบบ ในนาทีนี้ยังไม่แน่ใจว่าทาง GAC จะตัดสินใจนำรถรุ่นใดเข้ามากันแน่ แต่เคยเห็นรถรุ่น S Plus จอดอยู่ในลานจอดรถของโชว์รูมแล้ว แต่ในใจอยากให้นำรุ่น S Max เข้ามาลุยในเบื้องต้น เพื่อสร้างตัวตนให้แข็งแกร่งเสียก่อน แล้วค่อยเปิดตัวรุ่นราคาย่อมเยาตามออกมาในภายหลัง เอาเป็นว่าใครมองหาซีดาน ที่ดูโอ่โถงนั่งสบาย แถมมีดีไซน์ที่ดูสบายตา รอสัมผัสตัวจริงได้เลย!.