แน่นอนอัตราการเกิดน้อยประชากรวัยแรงงานจะมีปัญหาในอนาคต ดังนั้นวิธีจะรับมือนอกจากการสนับสนุนให้คนไทยมีลูก ยังต้องมองในประเด็นสร้างคนอย่างมีคุณภาพ ซึ่งต้องนับหนึ่งตั้งแต่ในครรภ์มารดา ในเดือนแห่งวันเด็กมองถึงความสำคัญในเรื่องนี้

เด็กไทยเผชิญปัญหาเพียบ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปีนี้ สมัชชาสุขภาพได้รับรองมติการขับเคลื่อน การเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กในประเทศไทย โดยมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อให้เกิดค่านิยมในสังคมไทยร่วมกันในการพัฒนาสังคมที่มุ่งเน้นการดูแลการเติบโตของเด็กให้มีคุณภาพเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ความท้าทายของการเติบโตเพื่อให้มีคุณภาพจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพได้ระบุสถานการณ์ที่สำคัญได้แก่ 1.อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ยังห่างจากเป้าหมายโภชนาการโลก 2.เด็กกว่าร้อยละ 30 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง หรือมีภาวะน้ําหนักเกิน 3.เด็กอายุ 0-5 ปีกว่าร้อยละ 25 มีพัฒนาการสงสัยล่าช้า ขณะที่เด็กบางส่วนก็ถูกเร่งรัดพัฒนาการเกินวัย ทําให้ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ระยะยาว 4.เด็กกว่า 2 ล้านคนอยู่ในครัวเรือนไม่พร้อมหน้า 5.เด็กอายุ 1-11 ปี กว่าครึ่งยังได้รับการเลี้ยงดูโดยการทําร้ายจิตใจหรือร่างกายจากผู้ปกครอง เนื่องจากพ่อแม่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ/ความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร/เร่งรัดพัฒนาสมองลูกด้วยการให้เรียนพิเศษเพื่อสอบเข้าอนุบาล/เลี้ยงดูอย่างตามใจ/หรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการเลี้ยงลูกมากเกินไป

สร้างพลเมืองหนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพ  เรื่องนี้ สำหรับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการขับเคลื่อน 6 เรื่องในปี 2567 ได้แก่ 1.หลักสูตรความรัก เพศศึกษา ความเป็นพ่อแม่ เชื่อมต่อครอบครัวข้ามรุ่น ซึ่งหมายถึง หลักสูตร การสร้างพื้นฐานพันธะผูกพันของมนุษย์ 2.เฉลิมฉลองการเกิด ทดแทนรายได้และ work from home เพื่อบรรลุ นมแม่ 6 เดือนแรก 3.ระบบการดูแลเด็กปฐมวัย 3 ปีแรก : กลุ่มการเล่นชุมชน เนอร์สเซอรี่ชุมชนและองค์กร 4.การดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้เด็กมุ่งเป้า “เด็กเติบโต    สู่การเป็นพลเมืองอนาคต” “พลเมืองสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 ทักษะชีวิต” : พลเมืองเท่าทันสุขภาพกายจิต พลเมืองยืดหยุ่น เรียนรู้ตลอดชีวิต พลเมืองดูแลกันและกัน พลเมืองเชื่อมต่อสรรพสิ่งและธรรมชาติ 5.ร่วมสร้างเมือง สร้างพื้นที่ เพื่อเด็กและครอบครัว 6.คัดกรองเด็กในครอบครัวยากลำบาก ACE และให้เงินสนับสนุนอย่างมีเงื่อนไข 3,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้เพื่อสร้างพลเมืองให้ได้รับผลลัพธ์สุขภาวะเชิงบวกจากการพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นต้องเริ่มที่การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย (early childhood well-being) ซึ่งจะนำไปสู่สุขภาวะตลอดชีวิต (life long well-being)

จินตภาพ “พลเมืองอนาคต”

โลกเดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นพลเมืองทุกคนจะต้องมีความสามารถที่ถูกพัฒนาขึ้นภายในตัวเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง เพื่อดำเนินชีวิตตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ความสามารถ 4 ด้านได้แก่ 1.ความสามารถดูแลสุขภาวะตนเอง มีความพร้อมทางด้านสุขภาวะทั้งกายและจิตใจ โดยได้รับการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานด้านสุขภาพ โภชนาการ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อารมณ์ และการศึกษา 2.ความสามารถเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีความสามารถในการเป็นผู้สร้างการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้มีความมั่งคั่งเพื่อความยั่งยืน และเป็นผู้มีความยืดหยุ่น (resilience) และพร้อมรับผลลบที่คาดไม่ถึง      อันเกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่ไม่ยั่งยืนในปัจจุบัน 3.มีพฤติกรรมการบริโภคที่พอเพียง มีขีดจำกัดการ ตอบสนองความต้องการของตัวเองที่เป็นธรรมต่อคนในรุ่นต่อไป มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับสรรพสิ่งรอบตัว ธรรมชาติ   สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.มีขีดจำกัดการตอบสนองความต้องการของตัวเองที่  เป็นธรรมแก่เพื่อนร่วมโลก มีความสามารถในการควบคุมตนเองให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลซึ่งกันและกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ทำลายล้างกัน รักความยุติธรรม และให้ความร่วมมือกันและกัน

เพราะโลกผันผวนโดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ผู้คนป่วยเป็นโรคทางใจมีปัญหาซึมเศร้ามากขึ้น ดังนั้นการเตรียมสมองรับมือตั้งแต่เด็กจึงสำคัญ เช่นเดียวการลงทุนกับระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยมุ่งเป้าผลลัพธ์ให้เด็กทุกคนมีคุณภาพและความสามารถในด้านสุขภาพ การเรียนรู้ การควบคุมพฤติกรรมตนเองในการอยู่ร่วม กับผู้อื่นและธรรมชาติ เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน.

พรประไพ เสือเขียว