พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการเพิ่มท่าอากาศยานแห่งใหม่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. อีก 2 แห่ง จากเดิม 6 แห่ง ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน และ 2. โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานอันดามัน) ตั้งอยู่ที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และความคุ้มค่าในการลงทุนดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเดินทางท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 67 ก่อนจะเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) มีความหนาแน่นของผู้โดยสารค่อนข้างมากโดยเฉพาะอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องขยายเพิ่มอีก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 สร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ วงเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคน เป็น 12 ล้านคนต่อปี คาดว่าเปิดประมูลปลายปี 67 นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างสนามบินน้ำ(Water Aerodrom) หรือ Seaplane Terminal แห่งแรกในไทย ที่ ทภก. รองรับการเปิดบริการธุรกิจเครื่องบินทะเล (Seaplane) ในไทย รวมถึงเป็นอีกทางเลือกในการเดินทางให้นักท่องเที่ยว และช่วยลดความแออัดภายในสนามบินด้วย
พล.ต.อ.วิสนุ กล่าวอีกว่า ทอท. อยู่ระหว่างการศึกษาสร้าง Seaplane Terminal ที่ ทภก. เพราะอยู่ติดกับทะเล ในลักษณะเดียวกับที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา และมัลดีฟส์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มาก และใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน เพราะมีเพียงแค่อาคาร และท่าเทียบเรือ เพื่อใช้เป็นที่ขึ้นลงในน้ำ ได้กำชับให้ ทอท. เร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้การเดินทางของผู้โดยสารจาก ทภก. ไปท่องเที่ยวยังเกาะต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต และเกาะในพื้นที่ต่างๆ อาทิ สมุย หัวหิน และพัทยา สะดวกรวดเร็ว และช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้มากขึ้น เบื้องต้นทราบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอกชนอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินธุรกิจ และพร้อมเปิดให้บริการ Seaplane ในไทย
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาสนามบินน้ำที่ ทภก. รวมทั้งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าในต้นปี 68 จะสามารถเริ่มกระบวนการเปิดประกวดราคา และก่อสร้างได้ อย่างไรก็ตาม ทอท. มั่นใจว่า ทภก. มีปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางด้วย Seaplane สูง และปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอกชน เริ่มติดต่อสอบถามถึงการพัฒนาสนามบินน้ำ รวมทั้งสนใจที่จะมาเปิดทำการบิน Seaplane ที่ ทภก. แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า เครื่องบินทางทะเล (Seaplane) เป็นเครื่องบินที่สามารถบินขึ้น/ลงในน้ำได้ และยังสามารถขึ้น/ลงจอดบนสนามบินปกติได้ด้วย หรือที่เรียกว่าเครื่องบินสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งได้รับความนิยมมากทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวทางทะเล และหมู่เกาะ เนื่องจากใช้เวลาการเดินทางน้อยกว่าทางเรือปกติมาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของประเทศ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกกฎระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสนามบินน้ำ หรือที่ขึ้น-ลงชั่วคราวทางน้ำ โดยจำเป็นต้องหารือร่วมกับหน่วยงานอนุญาตภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อการใช้พื้นที่ขึ้น/ลงทางน้ำ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกำหนดของกฎหมายด้วย.