ยุคนี้ตู้กดน้ำมีอยู่แทบทุกพื้นที่ทั่วไทย

ถามว่ามีอยู่กี่มากน้อยที่ไม่ได้คุณภาพ

แล้ว “ตู้กดน้ำมีกฎควบคุมอย่างไร??”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ปุจฉาพาให้คิด” ที่ผู้คนมีต่อ “ตู้กดน้ำหยอดเหรียญ” ในเรื่อง “มาตรฐาน-คุณภาพ-กฎควบคุม” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ลองค้นหาข้อมูล และพบว่า… ก็ “มีการกำหนดกฎควบคุม” ไว้ชัดเจน โดยเป็น “หลักเกณฑ์” ในการประกอบการกิจการเกี่ยวกับ “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ที่ออกโดย สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ออกหลักเกณฑ์-คู่มือปฏิบัติไว้ ภายใต้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยเป็นหลักเกณฑ์-คู่มือปฏิบัติ ที่ออกมาควบคุมกิจการประเภทดังกล่าวนี้ หลังจากในประเทศไทยมีผู้ประกอบการประเภทนี้เกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว…

คนไทยนิยมใช้ “ตู้น้ำหยอดเหรียญ”

เพราะ “ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคนี้”

สำหรับ “คู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ”... จากเอกสารเผยแพร่ของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ได้แจกแจงไว้หลักใหญ่ใจความมีว่า… สืบเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้การผลิตน้ำกลั่น น้ำบริโภค เป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการประกอบกิจการ เพื่อเป็นคู่มือให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทาง เพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้รับบริการน้ำดื่มที่ปลอดภัย

“ปลอดภัยต่อผู้บริโภค” หลักสำคัญ

รวมถึงกรณี “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ”

ในคู่มือปฏิบัติเกี่ยวกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น ได้อธิบายถึง “แนวทางควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ไว้ว่า… จะต้องดำเนินการให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่… 1.สถานที่ตั้ง, 2.คุณลักษณะของตู้น้ำ, 3.แหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ, 4.การควบคุมคุณภาพน้ำตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำบริโภค, 5.การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด, 6.การบันทึกและการรายงาน ซึ่งในแต่ละประเด็นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ

กล่าวคือ… “สถานที่ตั้ง” ของ “ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า… ต้องอยู่ห่างไม่น้อยกว่า 30 เมตร จากบริเวณที่มีฝุ่นละออง แหล่งระบายน้ำเสีย และแหล่งขยะมูลฝอย ถัดมาคือ… พื้นที่ตั้งตู้น้ำต้องไม่เฉอะแฉะและสกปรก, มีการควบคุมป้องกันการปนเปื้อน รวมถึงจากแมลงและพาหะนำโรค ไม่ให้สามารถเข้าภายในตู้น้ำได้, ต้องตั้งอยู่สูงกว่าพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร และนอกจากนี้ก็ยังต้อง มีระบบป้องกันไฟรั่วหรือลัดวงจร ด้วย

“คุณลักษณะของตู้น้ำ” ในคู่มือปฏิบัติระบุไว้ว่า… ตัวตู้น้ำต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นสนิม ที่มีความทนทาน และง่ายต่อการทำความสะอาด, อุปกรณ์ที่สัมผัสน้ำต้องทำจากวัสดุที่ใช้กับอาหาร (Food Grade) เช่น ถังสำรองน้ำ ท่อน้ำ หัวจ่ายน้ำ และจะต้องไม่ทำให้น้ำมีกลิ่น รส และสี เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม, หัวจ่ายน้ำต้องอยู่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร นอกจากนี้ตู้น้ำ ต้องไม่มีคราบสกปรกหรือตะไคร่น้ำ ทั้งภายนอกและภายในตู้ รวมถึงกับอุปกรณ์ที่สัมผัสน้ำโดยตรง

ในส่วนของ “แหล่งน้ำและการปรับปรุงคุณภาพน้ำ” มีการกำหนดไว้ว่า… แหล่งน้ำที่นำมาผลิตต้องเป็นน้ำที่มีคุณภาพดี เช่น น้ำประปา น้ำบาดาล และ ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ผลิตให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานโดยไม่มีการปนเปื้อนของสิ่งแปลกปลอมขณะที่ประเด็น “การควบคุมคุณภาพมาตรฐานน้ำบริโภค” ในคู่มือระบุเอาไว้ว่า… ต้องสุ่มตัวอย่างจากตู้เก็บน้ำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อนำไปวิเคราะห์ ทางด้านกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย, ต้องสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำตรวจสอบแบคทีเรียอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ด้วยชุดทดสอบอย่างง่าย เพื่อตรวจสอบโคลิฟอร์มแบคทีเรีย

ต่อไปก็ “การบำรุงรักษาและทำความสะอาด” ส่วนนี้ระบุว่า… ควรทำความสะอาดทุกวัน บริเวณจุดต่าง ๆ ของตู้ เช่น หัวจ่ายน้ำ ช่องระบายน้ำ พื้นผิวตู้ สถานที่ตั้ง ป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและเชื้อโรค, ควรล้างทำความสะอาดถังเก็บน้ำภายในตู้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และ ควรเปลี่ยนไส้กรองน้ำตามระยะเวลา เนื่องจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เป็นระบบที่กรองผ่านเยื่อกรองเมมเบรน (Membrane) เมื่อผ่านการกรองจะมีสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคสะสมที่เยื่อกรอง ทำให้อุดตัน จึงต้องถอดล้าง แต่ถ้าปล่อยให้อุดตันนาน ๆ เยื่อกรองจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ทำให้ฉีกขาด และกรองสิ่งสกปรกไม่ได้

อีกประเด็น… “การบันทึกและรายงาน” ผู้ประกอบการ ต้องแสดงข้อมูลกับรายงานเป็นเอกสารเพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็น “หลักเกณฑ์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ” ที่มีคู่มือระบุชัดเจนว่า “ต้องปลอดภัย”…

แต่…ปุจฉาคือ “แล้วการปฏิบัติล่ะ??”

มีการ “ปฏิบัติตามกันสักแค่ไหน??”

และ “มีการตรวจสอบหรือไม่??”.