ผมคิดในใจว่าหมดเลย เบี้ยคนชราเพิ่งโอนเข้าบัญชีมา 600 บาท และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ท่านนายกฯ สัญญาไว้ก็ยังไม่คลอดสักที ผมบอกเพื่อนว่า ผมไม่ได้เป็นสถาปนิกมานานแล้ว หันมาเอาดีด้าน CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เพื่อนผมกลับบอกว่า นั่นคือการยกระดับการออกแบบไปอีกขั้น ที่เรียกว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมทางสังคม และคุณคื“สถาปนิกผู้ออกแบบความยั่งยืน” พอมองมุมนี้ผมเลยเข้าใจภาพของสถาปนิกมากขึ้น ไม่เพียงถ่ายทอดความคิดลงบนพิมพ์เขียวก่อสร้างเท่านั้น แต่งานออกแบบสามารถเชื่อมโยงกับมิติของความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิน่าผมถึงเจอเพื่อนสถาปนิกทั้งรุ่นพี่ และรุ่นน้องทำงานด้านความยั่งยืนมากมาย แถมทำได้ดีด้วย และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผมเริ่มสงสัยว่า ปัจจุบันสถาปนิกมีบทบาทในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน โดยย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปี ขณะที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ จึงมีการก่อสร้างมากมาย ช่วงนั้นผมเป็นสถาปนิกหนุ่มไฟแรง ทำงานในบริษัทที่มีนวัตกรรมรักษ์โลกมากที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งมาก่อนกาล ตอนเราออกแบบอาคารให้กับโครงการต่าง ๆ เรามักจะนำเสนอวัสดุ และวิธีก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ลดเศษวัสดุ มีการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ มีการจัดการนํ้าหมุนเวียน มีพื้นที่กักเก็บกับชะลอนํ้าฝน ซึ่งมักจะถูกนายทุนปฏิเสธบอกว่ามีต้นทุนสูงเกินไป เราเสนอให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ร่มรื่นดูดซับคาร์บอนเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย นายทุนก็มักจะบอกว่าออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด จะได้ทำกำไรเยอะ ๆ พื้นที่สีเขียวเอาแค่ที่กฎหมายกำหนดขั้นตํ่าก็พอ เรามักเกลี้ยกล่อมให้ผู้ลงทุนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นแก่ทรัพยากรที่มีจำกัด เห็นแก่วิกฤติภาวะเรือนกระจก ซึ่งสมัยนั้นนายทุนให้ความสนใจน้อยมาก ข้อเสนอรักษ์โลกส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธด้วยข้อแม้งบประมาณ และกฎหมายที่ล้าหลัง เราจึงเห็นงานสถาปัตยกรรมที่ไม่รักษ์โลกสะสมมาหลายสิบปีเกลื่อนกลาดไปหมด

40 ปีผ่านไป ในปีที่ถาปัดจุฬาครบรอบ 90 ปี บทบาทของสถาปนิกกับความยั่งยืนเปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อให้เข้าใจความเคลื่อนไหวในวงการสถาปนิกมากขึ้น ผมจึงแวะไปคุยกับเพื่อน พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ A49 ซึ่งเป็นสำนักงานสถาปนิกเก่าแก่ที่มีชื่อเสียง และมีงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน ที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย โดยเป็นช่วงที่เขาจัดนิทรรศการแสดงผลงานเฉลิมฉลอง 40 ปีพอดี เพื่อน ๆ สถาปนิกเล่าให้ฟังว่า จากอดีตที่การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนถูกปฏิเสธจากนายทุน สมัยนี้กลับตรงกันข้าม ผู้ลงทุนรุ่นใหม่เป็นผู้กำหนดให้สถาปนิกต้องทำ checklist ต่าง ๆ ด้านความยั่งยืนให้ครบ การออกแบบอาคารต้องได้มาตรฐานอาคารเขียว LEED ระดับที่กำหนด ต้องคำนึงเรื่องการประหยัดพลังงาน ต้องคำนวณคาร์บอนที่ปลดปล่อยช่วงก่อสร้าง และในช่วงที่เปิดใช้งาน ต้องดูเรื่องการกักเก็บนํ้ากับการจัดการนํ้าหมุนเวียน ต้องมีระบบคัดแยกกับจัดการขยะ มีพื้นที่ให้ความสะดวกแก่ผู้พิการและคนชรา ต้องมีระบบข้อมูลกับการจัดการที่เป็น smart building สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้นายทุนถูกกดดันโดยลูกค้า และผู้ร่วมลงทุนของเขาอีกที ซึ่งสำนักงานและที่อยู่อาศัยของบริษัทระดับโลกจะมีข้อกำหนดมาตรฐานการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งต้องรายงานและส่งข้อมูลให้สำนักงานใหญ่ด้วย ทำให้อาคารเก่าที่ไม่รักษ์โลกจะหาผู้เช่าหรือผู้อาศัยยากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่รีบปรับปรุง และอาคารที่สร้างใหม่สถาปนิกผู้ออกแบบจะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจริง ๆ ไม่ก็ต้องทำงานร่วมกับทีมที่ปรึกษา ที่สำคัญโครงการที่พิสูจน์ได้ว่าปลดปล่อยคาร์บอนตํ่าจะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าอีกด้วย

ผมบอกเพื่อนสถาปนิกว่า ดีใจจังที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว มีนายทุนรุ่นใหม่สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น แต่เหล่าสถาปนิกบอกผมว่าอย่าเพิ่งรีบดีใจไป โครงการที่เล่าให้ฟังมักเป็นโครงการใหญ่ที่มีมาตรฐานสูง ที่ถูกกดดันให้มองไปข้างหน้า และบทบาทของสถาปนิกก็ต้องหาสมดุลระหว่างนวัตกรรมรักษ์โลกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้ได้ สถาปนิกเดี๋ยวนี้จึงต้องมีทักษะหลายด้าน อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างทั่วไป งานราชการยังคงต้องใช้เวลา และต้องช่วยกันกดดันจากสังคมให้มาตรฐานความยั่งยืนต่าง ๆ อยู่ในกฎหมาย อยู่ในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ และอยู่ในหัวใจของผู้มีอำนาจ ที่สำคัญต้องพัฒนาความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในวงการก่อสร้างทั้งระบบอีกด้วย

ในยุโรปแม้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องการก่อสร้างที่คาร์บอนเป็นศูนย์ แต่กลไกผลักดันสำคัญของเรื่องนี้ กลับเป็นภาคธุรกิจเอกชน ที่ร่วมมือกันสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ตลอด supply chain ผนวกกับภาคการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในยุโรปทุ่มทุนวิจัยจำนวนมหาศาล และดึงอาจารย์เก่ง ๆ มาทำเรื่องนี้ ไทยเราก็น่าจะใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีกลุ่ม CECI Circular Economy in Construction Industry ที่ประกอบด้วยบริษัทวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทสถาปนิกวิศวกร ที่ปรึกษา นักวิชาการ ร่วมกันคิดค้นการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในการก่อสร้างให้คุ้มค่า ลดการใช้วัสดุ ลดเศษวัสดุเหลือใช้ นำเศษวัสดุที่เหลือใช้ไปแปลงเป็นวัสดุใหม่ เช่น แผ่นปูทางเดิน วัสดุตกแต่ง และยังคงค้นคว้าวิจัยหานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อทำให้วงการก่อสร้างยั่งยืนขึ้น แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ก็ยังมีหวัง

ผมคิดว่า 90 ปีผ่านไป สถาปนิกไทยได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และน่าจะเป็นวิชาชีพสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย SDG เพราะอนาคตที่ยั่งยืน ออกแบบได้เสมอ…Toreador We Look To You.