นายประมิต เมฆฉาย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ม.ค.66) สหภาพแรงงานฯ ได้ประชุมเร่งด่วน เพื่อหารือกรณีการจ่ายค่าเหมาซ่อมรถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (เอ็นจีวี) สีฟ้า 486 คัน ระหว่าง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ประกอบด้วย บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN และ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี โดยมติที่ประชุมเห็นว่าต้องทำหนังสือถึง นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงการจ่ายค่าเหมาซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน ขณะเดียวกันวันที่ 24 ม.ค.นี้ คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานฯ จะเข้าพบนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เพื่อยื่นหนังสือให้ รมช.คมนาคม และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดแจ้งต่อไป

เนื่องจากกรณีรถเมล์เอ็นจีวีนี้ สหภาพแรงงานฯ ได้ทำหนังสือถึง ผอ.ขสมก. เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 กรณีที่กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ไม่จ่ายค่าจ้างให้กับช่างที่มาทำการซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี ทำให้ช่างไม่ทำการซ่อมรถเมล์เอ็นจีวี 486 คัน เมื่อวันที่ 29-30 ธ.ค.66 จน ขสมก. เกิดความเสียหาย ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเดือดร้อนในการเดินทาง ส่งผลกระทบในการเดินรถเมล์ ทั้งเขต 1-8 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 รถเมล์เอ็นจีวีสามารถนำออกวิ่งให้บริการได้ตามปกติแต่ไม่ครบจำนวน ตามสัญญาข้อตกลงกันระหว่าง ขสมก. กับ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO คู่สัญญาเหมาซ่อม ทำให้ ขสมก. ต้องจัดหารถตามเขตการเดินรถทั้งรถโดยสารธรรมดา หรือรถเมล์ร้อน (ครีมแดง) และรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) ยูโรทู ไปวิ่งให้บริการประชาชนตามเส้นทางรถเมล์เอ็นจีวีที่ไม่สามารถนำรถออกวิ่งได้ครบตามกำหนดไว้ และเกิดปัญหามาโดยตลอด

ทั้งนี้ ผอ.ขสมก. มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ 1 ลงไปตรวจสอบการซ่อมบำรุงของกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ที่เขตการเดินรถที่ 1, 2, 3 และเขตการเดินรถที่ 5 ที่มีรถเมล์เอ็นจีวีวิ่งให้บริการ ตามเขตการเดินรถ ว่าสามารถซ่อมบำรุงรักษารถเมล์เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาหรือไม่ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไม่สามารถจัดหาอะไหล่มาทำการซ่อมบำรุงรถเมล์ที่ชำรุดได้ ทำให้ไม่สามารถนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชนได้ตามแผนการเดินรถ และตามข้อกำหนดได้ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในการใช้บริการมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 65-67 เป็นต้นมา

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ม.ค.67 ขสมก. โดย ผอ.ขสมก. ได้แจ้งต่อพนักงาน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปให้ทราบว่า ในวันที่ 16 ม.ค.67 จะประชุมผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบอกเลิกสัญญาการเหมาซ่อมของกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO คู่สัญญาทั้งหมด หรือบางส่วน เนื่องด้วย กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ดำเนินการซ่อมบำรุงไม่เป็นไปตามสัญญา ในการดูแลการซ่อมบำรุงรักษารถเมล์เอ็นจีวี ทำให้ประชาชนเดือดร้อนในการเดินทาง สิ่งสำคัญทำให้องค์การได้รับความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้ ต้องจัดหารถเมล์ตามเส้นทางในเขตต่างๆ ทั้งรถปรับอากาศ และรถร้อนมาวิ่งให้บริการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ปัญหาการซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวี ที่ทำผิดเงื่อนไขสัญญามาโดยตลอด ขสมก. มีการปรับแต่ละวัน/คัน วันละ 10,000 บาท และทำหนังสือเตือนจาก ขสมก. กรณีไม่สามารถซ่อมบำรุงรถเมล์ให้แล้วเสร็จ และนำรถออกวิ่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาได้มาโดยตลอด แต่ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO มิได้ออกมาชี้แจงข้อมูลที่แท้จริง หรือปัญหาเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ให้ ขสมก. และประชาชนได้รับทราบ แต่ยอมรับว่า ไม่มีช่างเพียงพอมาซ่อมรถให้สามารถนำรถออกวิ่งให้ครบตามจำนวนในแต่ละวันได้ตามข้อกำหนดที่ตกลงกันไว้ และยอมให้ ขสมก. ปรับตามเงื่อนไขสัญญามาเป็นระยะเวลานานแล้ว โดยมิได้ออกมาชี้แจงกรณีไม่สามารถซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์ได้ เพราะ ขสมก. มิได้จ่ายค่าเหมาซ่อมให้ กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO หรือไม่อย่างไร มิได้ออกมาชี้แจงใดๆ ให้สังคมและ ขสมก. รับทราบแต่ประการใด

โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.67 บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงข่าวต่อสื่อเดลินิวส์ กรณีที่บริษัทไม่สามารถซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวีได้ตามเงื่อนไขสัญญา และข้อกำหนดตามแผนการเดินรถในแต่ละวันได้ เพราะ ขสมก. ไม่จ่ายค่าเหมาซ่อมให้บริษัท ทำให้ไม่มีเงินเพียงพอที่จะไปซื้ออะไหล่รถมาซ่อมบำรุงให้รถ ขสมก. ออกวิ่งได้ตามเงื่อนไขสัญญา

การให้ข่าวของบริษัทดังกล่าวทำให้ พนักงาน สมาชิกสหภาพแรงงาน ประชาชน และสื่อมวลชน เคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีคำถามมากมายจากสังคมว่าตกลงเกิดอะไรขึ้นใน ขสมก. ความจริงเป็นอย่างไร ใครพูดเท็จ ใครพูดจริง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่อย่างไร แต่ความเดือดร้อนส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

สหภาพแรงงานฯ ขอให้ ผอ.ขสมก. ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว กรณีที่บริษัทเหมาซ่อมกล่าวหาว่า ขสมก. ไม่จ่ายค่าเหมาซ่อมจำนวน 80-90 ล้านบาท จึงไม่สามารถจะซ่อมบำรุงรถเมล์ให้ ขสมก. ได้ เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถไปซื้ออะไหล่มาดำเนินการซ่อมบำรุงรถเมล์เอ็นจีวีให้เป็นไปตามเงื่อนไขได้ เป็นความจริงหรือไม่ประการใด หากปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องจริงใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต-ปัจจุบัน

ดังนั้นสหภาพแรงงานฯ จะแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำข้อมูลมาชี้แจงต่อสังคม ให้หายเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องดังกล่าว โดยให้ ผอ. ขสมก. ได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้สหภาพแรงงานฯ ให้รับทราบด้วย