เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่รัฐสภา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส โฆษกพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยบรรดานักกิจกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และตำรวจภูธรภาค 9 เข้าชี้แจงต่อ กมธ.ฯ กรณีที่สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี แจ้งข้อกล่าวหา 9 นักกิจกรรมในพื้นที่ ตามมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และอั้งยี่ซ่องโจร จากการแต่งกายชุดมลายูในงานวันฉลองฮารีรายอ เมื่อเดือนพ.ค.2565 โดยนายกมลศักดิ์ กล่าวว่า จากการที่กมธ.ฯ รับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทราบว่าทางกอ.รมน.ภาค4ฯ เป็นต้นน้ำในการมอบหมายให้สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นผู้ดำเนินการแจ้งความ 9 นักกิจกรรม ในข้อหาตามมาตรา 116 ขณะที่ทางด้านนักกิจกรรมฯ ก็ได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นไปตามข้อกล่าวหา และไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กอ.รมน.ภาค4ฯ ได้เคยลงไปพูดคุยทำความเข้าใจกับนักกิจกรรมแล้ว และทางนักกิจกรรมก็ได้ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด ตั้งแต่มีการจัดกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
“กมธ.ฯ ได้สอบถามทางกอ.รมน.ภาค4ฯ ว่า มีพยานหลักฐานอะไรถึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับนักกิจกรรม ให้ข้อหาตามมาตรา 116 ทางกอ.รมน.ภาค4ฯ ชี้แจงว่า ในการออกหมายเรียกไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายชุดมลายูของนักกิจกรรม แต่พบถ้อยคำที่แปลความมีนัยแอบแฝง ส่อไปในทางที่ขัดกฎหมาย มีการเปิดเพลง และมีธงสัญลักษณ์ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ BRN ที่ทำให้เกิดความระแวง ไม่ไว้วางใจ แต่ตนเชื่อว่าการรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ยังไม่เพียงพอที่จะมาแจ้งข้อกล่าวหา เพราะสำนวนคดีต้องหาหลักฐานหลายอย่าง ดังนั้นเรื่องนี้ต้องติดตามไปยังพนักงานสอบสวนว่าจะมีการรวบรวมพยานหลักฐานได้มากน้อยเพียงใด และจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่” ประธานกมธ.กฎหมายฯ กล่าว
นายกมลศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่ากมธ.ฯ ฟังความทั้ง 2 ฝ่าย และได้มีมติที่จะทำหนังสือเป็นข้อเสนอแนะไปยังทั้ง 2 ฝ่าย แต่จะไม่ก้าวล่วงไปยังรายละเอียดข้อคดี เพราะเรามีความเป็นห่วงว่าการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม จะไม่เอื้อต่อบรรยากาศการพูดคุยเจรจาสันติสุข ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกฯที่ 344/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย นอกจากนี้กมธ.ฯ ยังได้เชิญ สส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีอยู่ 13 คน มาร่วมรับฟัง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นคล้อยตามกับการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ทั้งนี้กมธ.ฯ พร้อมจะเป็นสะพานเชื่อมทั้ง 2 ฝ่าย ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟัง
ด้านตัวแทนนักกิจกรรม กล่าวว่า ในปี 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้กว่า 40 คน และล่าสุดใน 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีอีก 15 คน เรามองว่าการตั้งข้อกล่าวหา โดยเฉพาะอั้งยี่ซ่องโจร เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ยืนยันว่าการจัดกิจกรรมแต่งกายชุดมลายู เราทำอย่างเปิดเผย เห็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าผลทางลบ ไม่ได้มีการยุยงปลุกปั่นตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ก็หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมในกระบวนการสอบสวน ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุเตรียมลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อชูซอฟต์พาวเวอร์ของพื้นที่นั้น รัฐควรสนับสนุนการแต่งกายชุดมลายู เป็นซอฟต์พาวเวอร์ผ่านเฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ เพราะเป็นการส่งต่อวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลหรือต้องมาตั้งแง่