ฮาสินา วัย 76 ปี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 5 เธอให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนบังกลาเทศ ให้เป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรืองและพัฒนาแล้ว แต่บรรดานักวิจารณ์กล่าวหาว่า รัฐบาลของเธอสั่งจำคุกคู่แข่งสำคัญอย่างไม่เป็นธรรม ผ่านกฎหมายต่อต้านเสรีภาพสื่อที่เข้มงวด และละเมิดสิทธิ รวมถึงสังหารนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านหลายคน

เมื่อฮาสินามีอายุ 27 ปี และเดินทางไปต่างประเทศ นายทหารที่ทรยศได้สังหารนายกรัฐมนตรีชีค มูจิบูร์ ราห์มาน บิดาของเธอ พร้อมด้วยมารดา และพี่น้องของเธออีก 3 คน ในการรัฐประหารเมื่อปี 2518 ซึ่งฮาสินา เดินทางกลับบังกลาเทศหลังจากลี้ภัยนาน 6 ปี เพื่อบริหารพรรคสันนิบาตอวามี

ฮาสินา ร่วมมือกับพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ของนางคาเลดา เซีย เพื่อช่วยโค่นล้มประธานาธิบดีฮุสเซน มูฮัมหมัด เออร์ชาด ผู้นำเผด็จทหาร เมื่อปี 2533 แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฮาสินากับเซีย ก็มีความขัดแย้งกันจนถึงขั้นแตกหัก และการแข่งขันระหว่างพวกเธอ ได้ครอบงำการเมืองของบังกลาเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ฮาสินา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศครั้งแรก เมื่อปี 2539 แต่พ่ายแพ้ให้กับเซีย ในอีก 5 ปีต่อมา จากนั้นทั้งสองคนก็ถูกจำคุกในข้อหาคอร์รัปชั่น เมื่อปี 2550 หลังเกิดรัฐประหาร โดยรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ

Al Jazeera English

ในปี 2551 ข้อหาข้างต้นถูกยกเลิก ส่งผลให้ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งฮาสินา ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย และปกครองบังกลาเทศมาโดยตลอด ขณะที่เซีย วัย 78 ปี มีสุขภาพไม่แข็งแรง และถูกกักบริเวณอยู่ในโรงพยาบาล

แม้บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก หลังได้รับเอกราชจากปากีสถาน เมื่อปี 2514 ทว่าเศรษฐกิจของประเทศเติบโตโดยเฉลี่ยมากกว่า 6% ในแต่ละปี นับตั้งแต่ปี 2552 อีกทั้งความยากจนของประเทศก็ลดลง และประชาชนมากกว่า 95% สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ โดยรายได้ต่อหัวของบังกลาเทศ แซงหน้าอินเดียเมื่อปี 2564

ยิ่งไปกว่านั้น ฮาสินายังได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ สำหรับการเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาหลายแสนคน ซึ่งหลบหนีการปราบปรามของทหารในเมียนมา เมื่อปี 2560 ตลอดจนได้รับการยกย่องจากการปราบปรามกลุ่มไอเอส ภายในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลของฮาสินาไม่ยอมรับผู้เห็นต่าง ก่อให้เกิดความไม่พอใจในบังกลาเทศ เช่นเดียวกับรัฐบาลวอชิงตัน และฝ่ายอื่น ๆ ในต่างประเทศ ที่แสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด

กระนั้น นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า แม้คู่แข่งของฮาสินา บอยคอตการเลือกตั้ง แต่การกักขังบุคคลสำคัญของพรรคบีเอ็นพี จำนวนมากนั้น ทำให้ไม่เหลือทางเลือกอื่นในระบอบประชาธิปไตยของบังกลาเทศ นอกจากฮาสินา.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP