นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยให้ บขส. เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงบประมาณ ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบมาศึกษาพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งการออกแบบ พื้นที่ที่เหมาะสม และแนวทางการในการดำเนินงาน รวมถึงงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งการศึกษาฯ ต้องแล้วเสร็จ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 67 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้าง มั่นใจว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจะพัฒนาเป็นอาคารสูงบริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และมีอาคารแยกการให้บริการแต่ละเส้นทาง อาทิ อาคารเส้นทางสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน), สายใต้ และสายตะวันออก รวมทั้งต้องออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อกับสถานีกลางฯ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม ในลักษณะเดียวกับต่างประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามที่ดินที่จะใช้ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ จะเป็นพื้นที่ของ รฟท. ซึ่งแม้ว่าก่อนหน้านี้ รฟท. จะมีแผนนำพื้นที่แปลงต่างๆ บริเวณบางซื่อไปเปิดประกวดราคาในโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบัน รฟท. ยังไม่ได้นำมาเปิดประมูลอีก จึงสามารถปรับแผนงานได้ เพื่อนำพื้นที่บางส่วนมาก่อสร้างสถานีขนส่งฯ ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน 

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า รฟท.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องไปปรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณรอบสถานีกลางฯ แปลงต่างๆ ให้สามารถนำมาสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ได้ เพราะเป็นนโยบาย ส่วนจะเป็นแปลงใดนั้นขึ้นอยู่กับข้อสรุปผลการศึกษาฯ และการหารือกับ รฟท. เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนที่ รฟท.จะพัฒนาแน่นอน ส่วนก่อนหน้านี้ที่มีแผนจะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต 2 บริเวณถนนกำแพงเพชร ไปยังสถานีขนส่งหมอชิตเดิมที่บริเวณถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมธนารักษ์นั้น ทางกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่าคงไม่มีการย้ายกลับไปยังพื้นที่แห่งนี้แล้ว เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้พัฒนาสถานีกลางฯ แล้วเสร็จ และมีแผนจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสาธารณะของอาเซียน ขณะเดียวกันสถานีดังกล่าวก็เป็นจุดเชื่อมส่งต่อระบบรางได้อย่างครอบคลุมด้วย 

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะ บขส. มีทรัพย์สินของตนเองที่สามารถบริหารจัดการได้ และมีสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา จึงมั่นใจว่าจะไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน อาทิ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัยในปัจจุบัน ซึ่งจากการประเมินมีมูลค่าประมาณ 7 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับที่ดินที่จะใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ รวมถึงค่าก่อสร้างนั้น ต้องรอดูผลการศึกษาก่อน อย่างไรก็ตามในระหว่างที่รอการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ทาง บขส. ต้องเร่งรีโนเวทปรับปรุง เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในสถานีขนส่งฯ หมอชิต 2 เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดี และปลอดภัยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด.