อย่างไรก็ตาม กับบทบาทและภาระหน้าที่ของ “คนในอาชีพครู” ที่ในอดีตถูกเปรียบเป็น “เรือจ้าง” นั้น…ก็ต้องยอมรับว่า… “ครูยุคปัจจุบัน” ต้องเผชิญอะไร ๆ ที่แตกต่างจาก “ครูยุคอดีต” จากการที่ยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งก็ทำให้ “การเป็นครูยุคใหม่ยิ่งไม่ง่ายเลย!!!”…

ยุคนี้การศึกษาไทยมีปัญหามากมาย

ไม่เพียงส่งผลกับครูแต่รวมถึงเด็ก

“ครูยุคใหม่ต้องมีบทบาทซับซ้อนขึ้น”

ทั้งนี้ ปี 2566 ที่ผ่านมา “การศึกษาไทย” ดูจะ “มีความท้าทายเกิดขึ้นมากมาย” รวมถึงเรื่อง “คุณภาพ-มาตรฐาน” อย่างเช่นกรณีผลคะแนน PISA 2022 ของเด็กนักเรียนไทยอายุ 15 ปี ที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี และที่สำคัญประการหนึ่งคือเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ซึ่งยุคนี้ ช่องว่างถ่างกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ สังคมตั้งความหวังกับครูไว้สูงลิ่ว โดยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น…คงไม่อาจปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รับภาระแก้ไข แต่ จำเป็นที่จะต้องอาศัยทุก ๆ ฝ่าย ทุก ๆ คน “ร่วมกันแก้” ภายใต้ “ความเข้าใจ” และก็จำเป็น “ต้องฟังเสียงสะท้อน” ของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ…

“เสียงของครู” ในฐานะ “กลไกสำคัญ”

เกี่ยวโยง “เด็ก” และ “ระบบการศึกษา”

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ขอสะท้อนต่อข้อมูล “เสียงสะท้อนของครู” ที่ร่วมเสนอแนะแนวทาง “อุดช่องว่าง-ลดปัญหา” ให้กับการศึกษาไทย ข้อมูลจากเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันของ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ กสศ. ที่เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล อนาคตทิศทางการศึกษาไทย Beyond 2025 โดยในพื้นที่ดังกล่าวเหล่าคุณครูจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้ให้ทรรศนะต่อการร่วมแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กไทยเอาไว้ในประเด็นต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ โดยสังเขปมีดังนี้คือ…

เริ่มจาก ครูวิธิวัติ รักษาภักดี โรงเรียนท่าตูมประชาเสริมวิทย์ จ.สุรินทร์ ที่สะท้อนไว้ว่า… ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาสังคมมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นหลายด้าน อีกทั้งมีสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ดึงความสนใจเด็กไปจากการเรียนอยู่มากมาย ซึ่งสิ่งแรกที่การศึกษาต้องทำให้เกิดขึ้นคือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและครูเกิดความมุ่งมั่น ทั้งนี้ มองการศึกษาบ้านเรา ส่วนตัวมองว่ายังมุ่งที่การเรียนการสอนในห้องเรียนเพื่อวัดความสามารถวิชาการมากเกินควร ทั้งที่ พื้นฐานที่เด็กควรได้รับจากการไปโรงเรียนคือ…เด็กได้รู้จักตนเอง เพื่อรู้ตัวเองว่ามีความสามารถและความถนัดด้านใด แล้วโรงเรียน ครู ก็คอยช่วยส่งเสริม…

เติมจุดอ่อนเสริมจุดแข็งเด็กให้ถูกจุด

เด็กมั่นใจผลการเรียนก็จะดีตามมา

ทางด้าน ครูกมลรัตน์ ฉิมพาลี โรงเรียนถนนหักพิทยาคม จ.บุรีรัมย์ ให้ทรรศนะไว้ว่า… ผลทดสอบ PISA คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการศึกษาไทยต้องต่อสู้กับภาวะสูญเสียการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียนเพราะโควิด-19 ที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน การเรียนรู้เชิงกระบวนการต่าง ๆ จึงถดถอยลง โดยในฐานะครูมองว่า… สิ่งจำเป็นที่ต้องทำจากนี้คือ ต้องเปลี่ยนเป้าหมายว่าต่อไปจะไม่แค่สอนหนังสือ แต่จะให้ความสำคัญกับการสร้างคน ด้วยการร่วมทำงานกับหลายฝ่ายให้มากขึ้น รวมถึง ต้องเปิดมุมมองเด็กให้เชื่อมโยงชุมชนเพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ในพื้นที่ในทุกด้าน ทั้งวิชาการ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต

ถัดมา ครูกนกวรรณ อายุยืน โรงเรียนบ้านปางเป๋ย จ.น่าน ก็ได้นำผล PISA มาชวนสังคมฉุกคิดว่า… ปัญหาใดที่ทำให้ครูยังสอนเด็กให้ไปถึงเส้นชัยได้ไม่ดีพอ โดยสำหรับครูท่านนี้…เป็นครูที่สอนอยู่พื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดารมากว่า 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมาทั้งครูและเด็กในพื้นที่ต้องต่อสู้กับประเด็นปัญหาเฉพาะหน้ามามากมายทั้งเรื่องของโอกาส ความห่างไกล และอุปสรรคทางด้านภาษา อย่างไรก็ตาม ครูท่านนี้มองว่า… ปัจจัยเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบให้กับเด็กนักเรียนในพื้นที่ได้มากเท่ากับการ ขาดแคลนครูที่ควรมีครบชั้น ที่ควรได้สอนตรงเอก และอยู่ในพื้นที่ได้ยาวนานยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าหาก “ปิดช่องว่าง” นี้ได้…

เด็ก ๆ จะไม่เสียโอกาสการเรียนรู้

อาจเป็นคำตอบยกระดับการศึกษา

ทั้งนี้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ก็ร่วมสะท้อนไว้ โดยระบุไว้ว่า… ผล PISA 2022 ที่เกิดขึ้น นอกจากคะแนนที่ปรากฏ… “สิ่งที่ควรฉุกคิด” มากกว่าอันดับหรือคะแนนคือเรื่อง “ความพร้อมของเด็กไทย” ซึ่งเป็นผลจาก “ปัจจัยคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก” ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ซึ่ง “ยังคงมีความเหลื่อมล้ำ” จึงไม่ควรเป็นแค่วาระที่แวดวงการศึกษาและผู้มีส่วนกำหนดนโยบายต้องมาขบคิดว่าระบบการศึกษาไทยควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร แต่ ต้องสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนด้วย ทั้งการทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา …นี่เป็นบางส่วนของ “เสียงสะท้อนชวนคิด”

ก็สะท้อนต่อไว้ในโอกาสสำคัญวันครู

โดยเฉพาะ “เสียงจากครูเพื่อเด็กไทย”

เสียงที่ “ควรฟัง ควรคิด และควรทำ”.