เมื่อไม่นานนี้ ผมได้มีโอกาสเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง และได้ถามนักศึกษาเอกภาษาฝรั่งเศสว่าทำไมถึงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นเพราะสถานที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศส โดยเฉพาะหอไอเฟล ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะแต่ละปีฝรั่งเศสมีผู้มาท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก ไม่ต่ำกว่า 80 ล้านคน ส่วนหอไอเฟลในหลวงรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร เมื่อครั้งเสด็จ ฯ เยือนกรุงปารีส และกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองจนผู้คนมักจะลืมว่าเบื้องหลังสถานที่แห่งนี้ มีเรื่องการออกแบบและการก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยีในสมัยนั้น
แม้มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน แต่ภาพลักษณ์ที่ฝรั่งเศสและไทยมองซึ่งกันและกันมักจำกัดอยู่กับการท่องเที่ยว ความหรูหรา หรืออาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทั้งสองฝ่ายภูมิใจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสองประเทศมีมากกว่านั้น รัฐบาลฝรั่งเศสและไทยจึงกำหนดให้นวัตกรรม ในฐานะกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความก้าวหน้าเป็นประเด็นหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกัน ตลอดปี 2566 ภายใต้กิจกรรม “ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย 2023” หรือ “France-Thailand Year of Innovation 2023 (YOI)”
เริ่มจากการสื่อสาร ให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักจุดแข็งด้านนวัตกรรมของกันและกันมากขึ้น โดยเน้นย้ำให้ฝ่ายไทยทราบว่าฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนวัตกรรม จากการถูกจัดให้เป็นอันดับ 3 ของยุโรป และอันดับ 6 ของโลก ในเรื่องความพยายามด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นอันดับ 1 ในบรรดาประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ในเรื่องการจัดหาเงินทุนสาธารณะและการออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนา
อีกทั้งยังมีความน่าดึงดูดใจต่อนักลงทุนเนื่อง จากการมีจุดแข็งด้านพลวัตทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ มีศักยภาพทางนวัตกรรม และพลังทางศิลปวัฒนธรรม การปฏิรูปประเทศในช่วงไม่กี่ปีนี้ ช่วยให้ฝรั่งเศสเหมาะกับการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมในยุโรป โดยปี 2565 ฝรั่งเศสมียอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดในยุโรปเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน มียอดการลงทุนตลอด 20 ปีในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในยุโรป และมีโครงการวิจัยและพัฒนามากที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ประชาสัมพันธ์จุดแข็งเหล่านี้ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกผ่านแคมเปญล่าสุดภายใต้สโลแกน “Make it iconic. Choose France” หรือ “Marquez les esprits. Choisir la France”
ขณะเดียวกัน ผมเน้นย้ำให้ฝ่ายฝรั่งเศสทราบว่า ไทยมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญด้านนวัตกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ระหว่างปี 2561-2580 และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมุ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ซึ่งไทยมีกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ จ.เชียงใหม่ และมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนหนึ่งในสองเครื่องของภูมิภาค
นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นยกระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยสู่ระดับสากลสร้างความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ นักวิจัยไทย 2 ท่านได้รับรางวัล Tremplin ASEAN 2023 ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส และสภาวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างนักวิจัยฝรั่งเศสกับนักวิจัยในอาเซียน
การเยือนไทยของประธานาธิบดี เอมานูว์แอล มาครง เมื่อเดือนพ.ย. 2565 เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ตามคำเชิญของรัฐบาลไทย ได้ช่วยเร่งผลักดันการดำเนินความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ไทย ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายกระชับความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับนวัตกรรม นำมาซึ่งการเยือนไทยของนายออลีวีเย แบ็ชต์ รมช.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนม.ค. 2566 เพื่อเปิดกิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย
ตามด้วยการเยือนของนางซีลวี เรอตาโย รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยฝรั่งเศส เมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว เพื่อลงนามในแถลงการณ์แสดงเจตจำนง ว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย ในการเยือนดังกล่าว หน่วยงานวิจัยฝรั่งเศสในไทย เช่น สถาบัน IRD และสถาบัน CIRAD ก็ได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือฉบับใหม่กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเช่นกัน
ตลอดปี 2566 มีกิจกรรมที่จัดขึ้นทั้งในฝรั่งเศสและไทยภายใต้เครื่องหมายปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย ทั้งหมด 33 กิจกรรม ใน 4 กลุ่มสาขา ได้แก่ 1) สาธารณสุข ความงามและการดูแลสุขภาพ และอาหารเพื่อสุขภาพ 2) อากาศและอวกาศ 3) สิ่งแวดล้อม 4) อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ โดยภาคเอกชนฝรั่งเศสที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน เพื่อนำเสนอประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กรณีการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจรได้เป็นผลสำเร็จจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา เมืองกูรู ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับบริษัท Airbus Defence and Space หรือกรณีการลงนามในสัญญาจัดสร้างดาวเทียม SD-HTS ระหว่างบริษัทไทยคมกับแอร์บัส เมื่อเดือนพ.ย. 2566
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังมีหน่วยงานที่มีบทบาทด้านนวัตกรรมอยู่ในไทยเช่นกัน ได้แก่ La French Tech ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ Startup ของฝรั่งเศสทั้งในและนอกประเทศ โดยได้ฉลองการก่อตั้งครบรอบ 10 ปี เมื่อเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา หน่วยงานแห่งนี้มีความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอกับ Startup ในไทย ที่มีความสามารถด้านนวัตกรรม
บัดนี้ กิจกรรมปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทยได้จบลงอย่างเป็นทางการแล้ว โดยสามารถสรุปได้ว่าผลการดำเนินกิจกรรมเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง และยังสามารถพัฒนาต่อยอดความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้กิจกรรมนี้ได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสและไทยยังคงต้องร่วมมือกันส่งเสริม การดำเนินโครงการที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานวิจัย และนักลงทุน เพื่อนำไปสู่การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตามความประสงค์ของรัฐบาลสองประเทศ อันจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เมืองอัจฉริยะ หรือการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนวัตกรรมจะมีบทบาทสำคัญในประเด็นเหล่านี้ต่อไป.
ขอขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป