ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน…

ต้องมีระบบบริหารจัดการในเรื่องนี้

ตามที่ไทยมีข้อตกลงระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “สุขภาพแรงงานข้ามชาติ” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้…เรื่องนี้ในเชิง “ระบบ” มีการชูเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนบนเวทีประชุมวิชาการเนื่องในวันผู้อพยพผู้ย้ายถิ่นฐานสากล (International Migrants Day) เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยเวทีดังกล่าวนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) องค์การอนามัยโลก (WHO) สสส. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของประชากรข้ามชาติ และทำให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัย และการจัดการที่ดีของประเทศปลายทาง อันจะนำสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายในอนาคต เนื่องจากกรณีนี้…เมื่อมี “ปัญหา” เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ได้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง…

ต้องร่วมมือกันระดับประเทศเท่านั้น

สำหรับ “เสียงสะท้อน” จากเวทีดังกล่าวที่มีต่อกรณีนี้ ก็มีประเด็นน่าสนใจหลายด้าน ซึ่ง ดร.สุรสักย์ ธไนศวรรยางค์กูร ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. ได้ฉายภาพไว้ว่า… แรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย สามารถ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.ผู้ที่มีเอกสารถูกต้อง ซึ่งมักเป็นแรงงานที่มีทักษะ หรือเป็นผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ และเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย 2.แรงงานที่เข้ามาทำงานผ่านการทำ MOU ซึ่งก็เข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมาย และ 3.กลุ่มที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มีกฎหมายเปิดช่องให้ทำงานได้ชั่วคราว …นี่เป็นแรงงานข้ามชาติในไทย

ที่ “ไทยต้องมีแผนรองรับทุกกลุ่ม”

ขณะที่ประเด็นเรื่องของ “หลักประกันสุขภาพ” ของ “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ที่ผ่านมานั้น เรื่องนี้ทาง ดร.สุรสักย์ ระบุไว้ว่า… จากข้อมูลของสำนักบริหารจัดการต่างด้าว กรมการจัดหางาน เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่ผ่านมา พบว่า… ไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียน 2.59 ล้านคน ซึ่งเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแรงงานข้ามชาติที่มีหลักประกันสุขภาพทั้งสิ้น 91% โดยในจำนวนนี้เป็นระบบประกันสังคม 87% และซื้อบัตรประกันสุขภาพอีกราว 13% ซึ่ง ความท้าทายคือการทำให้ประชากรข้ามชาติเข้าถึงหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง เนื่องจากมีเรื่องระบบการเงิน งบประมาณ และนโยบายประเทศ เป็นสำคัญ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ย้ำถึง “ความท้าทาย” ในการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติไว้ในเวทีเดียวกันว่า… 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของการดำเนินงานสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถช่วยให้ประชากรไม่ต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่คำถามถัดมาคือระบบนี้ดูแลครอบคลุมคนได้มากกว่านี้อีกหรือไม่? เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายสูงสุดของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ต้องดูแลทุกคนบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าสัญชาติใดก็ตาม อย่างไรก็ตาม กับ ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย…ที่เข้ามาใช้ชีวิตในไทย นั้น…แม้ก็ ช่วยสร้างจีดีพีให้ประเทศไทย แต่…

ยังมีส่วนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ

“หากมองอย่างเป็นธรรม ประชากรข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ทำให้หลาย ๆ ประเทศจึงให้ความสำคัญกับแรงงานเหล่านี้ โดยให้บริการบางอย่างฟรี เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคให้ เนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์แค่คนที่ได้รับเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมด้วย” …ทาง นพ.ศุภกิจ ระบุไว้

ส่วน บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. ก็สะท้อนความท้าทายสำคัญของการดำเนินการเรื่องนี้ไว้ว่า… จากผลประเมินการดำเนินงานที่ผ่านมา พบความท้าทายที่สำคัญหัวข้อต่าง ๆ คือ… 1.ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งกับประชากรข้ามชาติ และกับผู้ให้บริการ ที่สาเหตุรวมถึงภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน 2.ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดการของภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ 3.การขาดความเชื่อมโยง ของฐานข้อมูลประชากร

ไทย “จะต้องอุดช่องว่าง” เหล่านี้

ทั้งนี้ “ข้อเสนอแนะ” เพื่อจะ “ลดผลกระทบจากปัญหา” นั้น เรื่องนี้ บุณยวีร์ เสนอไว้ 3 ประเด็น คือ… ประเด็นแรก… แง่สิทธิประโยชน์และความครอบคลุมประกันสุขภาพ เสนอให้กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพทำหน้าที่ดูแลบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว ประเด็นที่สอง… สร้างองค์ความรู้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ทำหน้าที่เฝ้าระวัง คัดกรอง ติดตามช่วยเหลือ และอีกประเด็น… ควรเพิ่มช่องทางสื่อสารข้อมูลสิทธิด้านสุขภาพและการเข้ารับบริการให้หลากหลาย …นี่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับ “ระบบดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติ” ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย…

ดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติจำเป็น

ไทยต้องทำซึ่งก็เพื่อคนไทยเราด้วย

เพื่อลดเสี่ยงโรคระบาดข้ามชาติ!!!.