เป็นบางช่วงบางตอนจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นชี้แจงในระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในประเด็น “อากาศสะอาด” และ “PM 2.5” โดยย้ำว่า… รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจจะแก้ปัญหา “ฝุ่นพิษ” หลังเคยออกมาระบุเมื่อช่วงปลายปี 2566 ว่า…ไม่อยากให้มองฝุ่นเป็นปัญหาฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่อยากให้มองเรื่องของฝุ่นเป็นปัญหาฤดูกาล ไม่อยากให้ประชาชนมอง “วิกฤติฝุ่น” เป็นปัญหาที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป แต่ก็ต้องยอมรับตามสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงว่า…ที่ผ่านมา “มาสเตอร์แพลนจัดการกับวิกฤติฝุ่น” ดูจะยังไม่ค่อยครอบคลุม ซึ่งก็คงต้องตามดูกันต่อไปว่า… ในวันที่วิกฤติฝุ่นวนกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2567 กรณีปัญหานี้รัฐจะมี “แผนเผชิญเหตุเฉพาะหน้า” รวมถึง “แผนรับมือปัญหาระยะยาว” อย่างไรบ้าง?? โดยที่ท่ามกลางการเอาใจช่วยจากประชาชนให้รัฐแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ในฟากฝั่งวิชาการเองก็ไม่นิ่งเฉย ก็ได้พยายามที่จะ “ร่วมแก้ปัญหาฝุ่น” เช่นกัน…

โดยมีการ “เสนอให้เร่งทำบัญชีฝุ่น”

“ค้นหาต้นกำเนิด PM 2.5 ที่แท้จริง”

เพื่อเป็นเครื่องมือวางแผนแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการ “การจัดทำแนวทางการจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยการวิจัยการเกิดอนุภาคทุติยภูมิจากการใช้ระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง” โดย รศ.ดร.สาวิตรี การีเวทย์ และคณะ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิด-กลไกการเกิด PM 2.5 ทุติยภูมิ (Secondary Aerosol Precursors) จัดทำแนวทาง-ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศ เพื่อ…

แก้มลพิษทางอากาศจาก PM 2.5

ให้ปัญหาลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม

เกี่ยวกับเรื่องนี้…ทาง รศ.ดร.สาวิตรี ได้มีการให้ข้อมูลไว้ว่า… มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยปี 2566 ไทยมีปัญหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาให้ลดลง ไทยจำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษ เพื่อค้นหาต้นกำเนิดที่แท้จริงของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนนโยบายเพื่อหาแนวทางการแก้ไข หรือบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย …เป็นการย้ำถึงความสำคัญเรื่องนี้

และเพื่อให้ไทยมีข้อมูล “บัญชีการระบายมลพิษ” ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ “ถูกต้อง-แม่นยำ” ทาง รศ.ดร.สาวิตรี ได้ระบุไว้ว่า… แม้การใช้ข้อมูลบัญชีการระบายมลพิษจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ แต่เนื่องจาก ฝุ่น PM 2.5 มีทั้งที่เกิดจากการปล่อยโดยตรงจากแหล่งกำเนิด เช่น เผาในที่โล่ง ฝุ่นละอองจากรถยนต์ ที่เป็น “ฝุ่นแบบปฐมภูมิ” และยังมี “ฝุ่นแบบทุติยภูมิ” ที่เป็น การรวมตัวกันของสารตั้งต้น (Precursors) เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แอมโมเนีย และ NMVOC กับสารอื่น ๆ ผ่านปฏิกิริยาเคมีในอากาศ จึง จำเป็นต้องมีทั้งบัญชีระบายฝุ่น PM 2.5 ปฐมภูมิ และสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิด PM 2.5 แบบทุติยภูมิ เพื่อใช้ในการนำเข้าระบบแบบจำลองการจัดการคุณภาพอากาศ

ใช้ประกอบการตัดสินใจแก้ PM 2.5

ทั้งในระยะกลาง และในระยะยาว

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของโครงการฯ พบว่า… พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแหล่งกำเนิด PM 2.5 ปฐมภูมิมาจากการจราจรเป็นส่วนใหญ่ สาเหตุหลักของ PM 2.5 ปฐมภูมิ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมาจากภาคการจราจรและภาคการขนส่ง ที่มีปัจจัยจากรถที่มีอายุการใช้งานนาน จนส่งผลต่อการปล่อยไอเสียในปริมาณมาก ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ก็จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ปฐมภูมิได้กว่า 10% ภายในปี 2573 และเมื่อรวมปัจจัยการใช้รถ EV ที่มีปริมาณมากขึ้นทุกปี ก็จะช่วยลด “PM 2.5” ได้เพิ่มขึ้น

ทาง รศ.ดร.สาวิตรี ระบุไว้ด้วยว่า… แม้โครงการฯ จะเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ก็ต้องเก็บข้อมูลพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะอากาศไม่มีอาณาเขต และ การมีข้อมูลครอบคลุมจะช่วยให้การออกแบบนโยบายแก้ปัญหาถูกต้องแม่นยำขึ้นแก้ปัญหาได้ถึงจุดกำเนิด PM 2.5 ซึ่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงช่วยแก้ปัญหา แต่ยังช่วยพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ให้สามารถออกแบบวิธีแก้ปัญหาได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอคำสั่งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา การบรรเทาปัญหาก็จะทำได้รวดเร็วทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น …นี่ก็อีกส่วนจากข้อมูลข้อเสนอ …กรณี “บัญชีแหล่งกำเนิด PM 2.5”

ตอบโจทย์ “ไม่มองเป็นปัญหาฤดูกาล”

แต่เป็นปัญหาที่ต้อง “แก้แบบยั่งยืน”

โดย “ใช้บัญชีฝุ่นที่มีประสิทธิภาพ”.