จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการออกมาเตือนให้ประเทศไทยต้องกลับมาเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) หลังพบว่าขณะนี้หลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชีย ตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ของไทย ได้ออกมาเตือนว่า ควรเตรียมพร้อมรับมือการกลับมาระบาดซ้ำของโรคฝีดาษลิง ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง และช่วยลดการเสียชีวิตให้แก่กลุ่มเสี่ยง

รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และรักษาการรอง ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน โดยข้อเท็จจริงคือ มีการติดเชื้อมานานแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพียงแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคนี้เยอะขึ้น เพราะมีการกระจายจากแหล่งโรคในแอฟริกาออกไปนอกทวีปมากขึ้น โดยปี ค.ศ. 2022 ได้พบการระบาดเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันนี้ มีการพบการแพร่ระบาดมากขึ้นในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ไทย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ปลายปี 2566 ที่ผ่านมา มีการพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรวม จำนวน 681 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจากฝีดาษลิง จำนวน 4 ราย ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น ได้แก่ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาการจะรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น รวมถึงมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือมีระบบภูมิคุ้มกันปกติ ซึ่งการป้องกันตัวไม่ให้ตกอยู่ในความเสี่ยงจากโรคฝีดาษลิง นอกจากการป้องกันตนเองไม่ให้อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะช่วยลดอาการรุนแรง ลดเสียชีวิต และช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้

รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ

“การแพร่ระบาดส่วนใหญ่ของไทย เหมือนหลายประเทศในเอเชีย โดยเกิดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มชายรักชาย และจากการสัมผัสสถานที่ที่มีความเสี่ยง หรือจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่มีสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ ทำให้สิ่งที่ไทยจะต้องจับตาใกล้ชิดคือ ปีใหม่ 2567 น่าจะมีผู้ที่สัมผัสเชื้อฝีดาษลิงเยอะขึ้น ที่เป็นผลจากการรวมตัวทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จนทำให้ไทยอาจเผชิญการแพร่ระบาดอย่างเงียบ ๆ จากโรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษลิง ดังนั้นเพื่อไม่ประมาท ควรเร่งสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ เพื่อให้สังคมตื่นตัว รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และลดการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง” รศ.นพ.โอภาส ระบุ

ขณะที่ ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หน่วยโรคติดเชื้อ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผช.ผอ.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวเสริมว่า ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานร ในขณะนี้พบว่ามีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในญี่ปุ่น และประเทศไทย ที่ถือเป็นการระบาดในระดับที่น่ากังวล เพราะเพิ่มขึ้นเงียบ ๆ ในกลุ่มเสี่ยงคือ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งลักษระการแพร่ระบาด จะคล้าย ๆ กับตอนที่เอดส์ระบาด คือช่วงแรกจะระบาดในกลุ่มชายรักชาย จนผ่านไป 3-5 ปี เริ่มมีการพบการระบาดในผู้หญิง และกลุ่มไบเซ็กชวล ซึ่งถ้าไม่มีการควบคุมโรค การระบาดก็อาจลุกลามขยายวงออกไปยังประชากรกลุ่มอื่นเรื่อย ๆ จนยากจะควบคุม ที่สุดประชากรทุกกลุ่มก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ทุกคน

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำถึงการป้องกันโรคฝีดาษลิงว่า มีหลักสำคัญ คือ ลดการสัมผัสกับเชื้อ เพราะโรคนี้ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกาย นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวทางก็คือ การใช้วัคซีนเพื่อป้องกัน อย่างไรก็ตาม แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่จำเพาะกับโรคฝีดาษลิง แต่วัคซีนที่หลายประเทศทั่วโลกใช้กันอยู่ คือ “วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ” หรือ “Smallpox วัคซีน” ที่นำมาใช้ป้องกันได้เช่นกัน เนื่องจากโรคฝีดาษและฝีดาษลิง เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน โดยวัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 80% แต่เนื่องจากประเทศไทยหยุดการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษลงไป เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของโรคน้อยลง โดยมีเพียงคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยฉีดวัคซีนนี้ จึงมีความเสี่ยงที่จะโรคจะกลับมาระบาดซ้ำ ดังนั้นควรมีการเร่งฉีดวัคซีนชนิดนี้โดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันตนเองให้กับประชาชน

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

“ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยตรง แต่หลาย ๆ ประเทศได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยใช้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine) 2 ชนิด คือ วัคซีน JYNNEOS® และ ACAM2000® ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อเป็น Vaccinia virus อ่อนฤทธิ์ ที่นำมาใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ โดยพบว่าการฉีดวัคซีน JYNNEOS® เข้าใต้ผิวหนัง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.5 CC ฉีดห่างกันอย่างน้อย 28 วัน (หรือประมาณ 4 สัปดาห์) มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึงร้อยละ 80-85 โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

นอกจากนั้นการฉีดวัคซีนตัวนี้ ยังทำได้ถึง 2 แนวทาง คือ แนวทางที่หนึ่ง ฉีดให้คนที่มีการสัมผัสโรคแล้ว ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ, ใกล้ชิดคลุกคลีหรือสัมผัสกับรอยโรคผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดใน 14 วันหลังเกิดการสัมผัสโรค แต่ที่ดีที่สุดคือการฉีดภายใน 4 วัน กับแนวทางที่สอง คือ ฉีดป้องกันก่อนสัมผัสโรคให้กับบุคลากรการแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อฝีดาษลิง รวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือได้รับวินิจฉัยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา” ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ มีราคาแพง ปัจจุบันหลายประเทศจึงอนุญาตให้ใช้เป็นการฉีดวัคซีนแบบทางเลือก คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง หรือในผิวหนัง โดยฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 0.1 มิลลิลิตร ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน (4 สัปดาห์) เพื่อประหยัดวัคซีน โดยพบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดี ไม่ต่างจากวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และให้ประสิทธิผลการป้องกันโรคไม่ต่างกัน ทั้งนี้ สำหรับเมืองไทย แม้จะเพิ่งพบการแพร่ระบาดแค่ 1 ปี แต่จำนวนคนติดเชื้อกลับยังพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า กราฟผู้ที่ติดเชื้อจะขึ้นไปแค่ไหน เนื่องจากตอนนี้เป็นการระบาดในกลุ่มปิด อีกทั้งคนที่ร่างกายแข็งแรง เมื่อเป็นแล้วสามารถหายเองได้ ทำให้เกิดปัญหาที่น่ากังวลคือ แม้อาการจะไม่รุนแรง แม้หายเองได้ แต่ก็ยังแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เช่นกัน

ซึ่งถ้าผู้ติดเชื้อไม่ไปพบแพทย์ จะไม่ทางรู้เลยว่า ขณะนี้ตัวเลขที่แท้จริงของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงของไทยมีอยู่เท่าไหร่ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันจึงเป็นตัวเลือกที่ช่วยเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี โดยขณะนี้ทางสถานเสาวภา ร่วมกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้สั่งวัคซีนชนิดดังกล่าวเข้ามาประเทศไทยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการฉีดได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรืออย่างช้าก็น่าจะเป็นราว ๆ ต้นเดือน ก.พ. 2567