สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ว่า แม้ 195 ประเทศและดินแดนร่วมกันลงนามในความตกลงปารีส ฉบับปี 2558 ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( ยูเอ็นเอฟซีซีซี ) เพื่อลดการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกให้ได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิบัติอุตสาหกรรม ภายในปี 2573 และต้องบรรลุเป้าหมาย "คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" ภายในปี 2593 ซึ่งเป็น "แนวทางเป็นไปได้มากที่สุด" ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีเดวิด คาบัว ผู้นำสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ต่อที่ประชุสมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) ว่า หมู่เกาะมาร์แชลล์ไม่สามารถ "สูญเสียดินแดนจากภาวะโลกร้อนได้อีก" สื่อถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงและการกัดเซาะชายฝั่ง วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ประชาคมโลกจะสามารถเลื่อนหรือชะลอเวลาได้อีกต่อไป ขณะที่ประธานาธิบดีอิบราฮิม โมฮาเหม็ด โซลีห์ ผู้นำมัลดีฟส์ กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก 1.5 หรือ 2.0 องศาเซลเซียส ส่วนต่างดังกล่าวถือเป็น "ช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย" สำหรับมัลดีฟส์ 
ด้านประธานาธิบดีเออร์ฟาน อาลี ผู้นำกายอานา ตำหนิบรรดาประเทศที่ติดอันดับปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดในโลก "ยังไม่เคยจริงจัง" กับวิกฤติสิ่งแวดล้อม การกำหนดตัวเลขลดการปล่อยก๊าซพิษเป็นเพียง "ลมปาก" แต่บรรดาประเทศขนาดเล็กซึ่งมีพื้นที่ชายฝั่ง และบรรดาหมู่เกาะกลับเป็นผู้ต้องได้รับผลกระทบ ทั้งที่เป็นประเทศปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าหลายสิบหลายร้อยเท่า พร้อมทั้งเตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะคร่าชีวิตมนุษย์มากกว่าโรคโควิด-19
ส่วนประธานาธิบดีปซูรังเกล วิปป์ส ผู้นำปาเลา กล่าวว่า คนรุ่นหลังต้องการอนาคต "ที่มีสุขภาพดีและยั่งยืน" หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป สิ่งแวดล้อมโลกจะเสื่อมโทรมจนไม่อาจฟื้นฟูได้อีก.

เครดิตภาพ : REUTERS