เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่อาคารซ่อมบำรุง (Main Workshop) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง หลังจากเกิดเหตุการณ์ล้อประคองรถไฟฟ้าหลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่ บริเวณถนนเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21)
นายคีรี กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงลงมาติดตามการตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกคน ต้องขอโทษประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และผู้โดยสารทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตลอดเวลา 30 ปีในการดำเนินงานให้บริการเดินรถไฟฟ้าของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย และความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการมากที่สุด ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
นายคีรี กล่าวต่อว่า ขณะนี้บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) และเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบรายละเอียดของล้อประคองทุกขบวน เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งาน และเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีอยู่ 30 ขบวน วิ่งให้บริการ 21 ขบวนต่อวัน โดย 1 ขบวน มีล้อประคอง 48 ล้อ ซึ่งตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว 624 ล้อ จากทั้งหมดกว่า 1 พันล้อ หรือประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม Alstom กำลังตรวจสอบรายละเอียด และหาสาเหตุที่แท้จริง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะรู้ผล
นายคีรี กล่าวอีกว่า ไม่สามารถรับประกันได้ว่าหลังจากนี้จะไม่เกิดเหตุขึ้นอีก เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่คิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นแล้ว ได้สั่งให้ตรวจสอบอย่างละเอียด และเปลี่ยนอะไหล่ชุดล้อประคองใหม่ทั้งหมด ซึ่งลอตใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยน ก็เน้นย้ำให้ตรวจสอบให้ดี ทั้งนี้ยังคงมั่นใจในบริษัทผู้ผลิต เพราะเป็นบริษัทที่มีมาตรฐาน และมีชื่อเสียงทั่วโลก ที่ผ่านมา Alstom เคยเกิดเหตุลักษณะนี้ 1 ครั้งที่ประเทศจีน ส่วนความเหมาะสมในการใช้โมโนเรลต่อไปในอนาคต มองว่าโมโนเรลมีความปลอดภัย และใช้กันทั่วโลก มีข้อดีที่ระบบอื่นไม่มีคือ สามารถเข้าโค้งทำมุมได้มาก และปลอดภัย สำหรับสายสีเหลืองที่เลือกใช้เป็นโมโนเรลนั้น รมว.คมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้กำหนด และได้ผ่านกระบวนการศึกษามาแล้ว ดังนั้นในฐานะผู้รับสัมปทานก็เลือกไม่ได้ ก็ต้องปฏิบัติตามที่กำหนด และการใช้โมโนเรลไม่ได้หมายความว่า ทำให้ประหยัดต้นทุน เพราะราคาก็ไม่ได้ถูก
ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะสรุปเบื้องต้นว่า เกิดข้อบกพร่องจากผู้ผลิต ในฐานะที่ EBM เป็นผู้รับสัมปทานจะมีการแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง นายคีรี กล่าวว่า เราพร้อมทำทุกอย่างให้ดีที่สุด สิ่งที่จะทำหลังจากนี้คือ คิดหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะเมื่อครั้งที่ตัดสินใจซื้ออะไหล่กับ Alstom ก็ได้ตรวจสอบทั้งหมดแล้ว และเวลานี้อะไรที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย หรืออะไรที่มีความสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย ได้สั่งให้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ในส่วนของผู้ผลิตก็รู้สึกเสียใจมากเช่นกัน ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุขึ้นได้
นายคีรี กล่าวด้วยว่า ส่วนเรื่องการขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ตามนโยบายกระทรวงคมนาคมนั้น คิดว่า รมว.คมนาคม คงพูดด้วยความหวังดี เพื่อให้ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกบริษัทที่จะมาประกอบธุรกิจกับระบบขนส่งมวลชน ไม่ใช่แค่เพียงทางราง จะได้เกิดความตระหนัก และให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองยังคงให้บริการฟรี จนกว่าจะให้บริการความถี่ปกติ ซึ่งความสูญเสียจากรายได้ที่หายไปไม่สำคัญ เท่ากับเวลานี้จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนมากที่สุด
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ EBM กล่าวว่า ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ได้ออกมาให้บริการ 11 ขบวนแล้ว ความถี่ในการให้บริการประมาณ 10 นาทีต่อขบวน คาดว่าในวันที่ 6 ม.ค.นี้ จะสามารถเปิดให้บริการตามปกติ และเก็บค่าโดยสาร โดยในวันเสาร์-อาทิตย์ปกติจะเดินรถกว่า 10 ขบวน ความถี่ 10 นาทีต่อขบวน และในวันจันทร์-ศุกร์ จะเดินรถประมาณ 21 ขบวน ให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน 5 นาทีต่อขบวน และนอกชั่วโมงเร่งด่วน 10 นาทีต่อขบวน อย่างไรก็ตามทาง Alstom ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนชุดล้อใหม่ทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
“ยืนยันว่าเราเลือกใช้ระบบที่ดีที่สุดของโลก เมื่อครั้งสั่งซื้อเป็นของบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ขายกิจการให้บริษัท Alstom ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรถไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก จึงขอให้มั่นใจได้ว่าเราเลือกบริษัทที่มีชื่อเสียง และมีคุณภาพ” นายสุรพงษ์ กล่าว.