เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท  วาระแรก  โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักทั้ง สส. ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำทีม ครม.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง  

ซึ่งก่อนเริ่มพิจารณา ตัวแทนวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน  ได้ยืนยันจะทำงานเพื่อให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ คือ 43 ชั่วโมง แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน จำนวน 20 ชั่วโมง  ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 20 ชั่วโมง และประธานในที่ประชุม จำนวน 3 ชั่วโมง

จากนั้นนายเศรษฐา ได้แถลงถึงสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ว่า สำหรับหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนนโยบายตามที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงเป็นไปตามแผนพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญลำดับต้นๆ  โดยจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ในระบบ การลดราคาพลังงาน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายประชาชนลดลง และเพิ่มขีดการแข่งขันด้านอุตสาหกรรม นอกจากนั้นจะมีเรื่องด้านสังคม ความมั่นคง ผ่านการพัฒนากองทัพ และความมั่นคงให้ทันสมัยใกล้ชิดประชาชน ใช้การเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจ ขณะที่ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขจุดด้อย บนหลักการที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด รวมถึงไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า เศรษฐกิจปี 2567 จะขยายตัว ร้อยละ 2.7-3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ ร้อยละ 1.7–2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานที่ผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต

นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบ จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทั้งการสร้างอุปสงค์เพื่อขยายการผลิต การท่องเที่ยวให้เข้าถึงเมืองรองมากขึ้น การสนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของไทยนำไปสู่การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศในระยะยาว นโยบายลดรายจ่ายต่างๆ ทั้งการแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบ การลดราคาพลังงานและปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม รัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ สร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ  การทำให้การระบบคมนาคมและโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศ การลงทุนเรื่องน้ำที่ครอบคลุมทั้งระบบ เชื่อมต่อชลประทานให้มากยิ่งขึ้น  ทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการดูแล อากาศต้องสะอาด ฝุ่นพิษต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน

นายเศรษฐา  กล่าวว่า อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือด้านสังคมและความมั่นคง ประชาชนต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยมากขึ้น ระบบเกณฑ์ทหารจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ มีการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ทั้งการพัฒนาตนเอง การฝึกอาชีพ รวมถึงโอกาสประกอบอาชีพหลังการเป็นทหารประจำการ เพื่อสถาบันทหารมีความเป็นมืออาชีพ มีภาพลักษณ์ที่ดี ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดำเนินนโยบาย “การต่างประเทศที่กินได้” สร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย เป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาค มีอำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในสากล ด้านการพัฒนาศักยภาพคนไทย จะต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ ขยายโอกาสการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงระดับวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับตลาดแรงงาน หรือผู้ประกอบการยุคใหม่ๆ

นายเศรษฐา  กล่าวว่า ด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของฉบับที่ผ่านมาผ่านการทำงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ จะแก้รัฐธรรมนูญบนหลักการที่เป็นไปได้มากที่สุดเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย ประชาชนจะได้รับการบริการจากภาคราชการเร็วขึ้น จะใช้งบประมาณรายจ่ายพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว สะดวก ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอีกต่อไป

นายเศรษฐา  กล่าวว่า อย่างไรก็ตามรัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง โดยประมาณจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่น รวม 2.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 จากปีก่อน ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง วันที่ 31 ต.ค.2566 มีจำนวน 11.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ที่ ร้อยละ 70  ขณะที่ฐานะเงินคงคลัง วันที่ 31 ต.ค.2566 มีจำนวน 297,093 ล้านบาท รัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับเหมาะสม บริหารรายรับ รายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาทนั้น จะจำแนกออกเป็นรายจ่ายประจำ 2,532,826 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.8  รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 118,361 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 3.4  รายจ่ายลงทุน 717,722 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.6 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 118,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4

 

นายเศรษฐา  กล่าวว่า ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำแนกตามยุทธศาสตร์ได้ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 390,149.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง รับมือภัยคุกคาม ภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ มีแผนงานสำคัญ อาทิ การป้องกันปราบปราม บำบัดผู้ติดยาเสพติด การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายลดเหตุรุนแรงลง ร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560 การรักษาความสงบในประเทศ เสริมสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติให้อยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม 2.ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขัน 393,517 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 11.3 มีแผนงานสำคัญ อาทิ การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การมีมาตรการเฝ้าระวังรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค 3.ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ 561,954 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1 เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย มีคุณภาพชีวิตดี  การศึกษาได้รับการปฏิรูป พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข อาทิ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา

นายเศรษฐา กล่าวว่า 4.ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 834,240 ล้านบาท หรือร้อยละ 24 เพื่อให้คนไทยได้รับสวัสดิการพื้นฐานทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทุกมิติ มีแผนงานสำคัญ อาทิ การเตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัย การพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5.ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 131,292 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล มีแผนงานสำคัญ อาทิ การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาขยะทุกประเภทอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 604,804 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพ มีแผนงานสำคัญ  อาทิ การต่อต้านทุจริต โดยปรับปรุงกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันปราบปรามการทุจริต  การมีรัฐบาลดิจิทัล พัฒนารูปแบบการให้บริการภาครัฐผ่านการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้อย่างคุ้มค่า การปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคพัฒนาประเทศ

“แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9  ทำให้จัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722  ล้านบาท และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361 ล้านบาท เป็นการเตรียมพร้อมให้รัฐบาลมีกรอบลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณปี 2568 การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้เป็นจุดเริ่มต้นดำเนินนโยบายทั้งระยะสั้นจนถึงระยะยาว รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง  ใช้เงินภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นไปตามกฎหมาย” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี  ใช้เวลาชี้แจงนานเกือบ 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 11.25 น. นายชัยธวัช  ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายเป็นคนแรก.